รีเซต

Astra บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรสำเร็จเป็นครั้งแรก

Astra บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรสำเร็จเป็นครั้งแรก
TNN ช่อง16
22 พฤศจิกายน 2564 ( 18:29 )
125

ปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้านต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดดล่าสุด Astra บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศประสบความสำเร็จในการส่งจรวด Rocket 3.3 ขึ้นสู่วงโคจรของโลกพร้อมแบบจำลองดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร หลังจากบริษัทประสบความล้มเหลวในความพยายามส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรมาแล้วถึง 6 ครั้ง การปล่อยจรวดครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาบริเวณฐานปล่อย Pacific Spaceport Complex – Alaska (PSCA) รัฐอะแลสกาตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา


Astra บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศก่อตั้งในช่วงปี 2016 โดย Chris Kemp อดีตหัวหน้าแผนกวิเคราะห์ข้อมูลศูนย์วิจัยนาซ่าอาเมส (NASA Ames Research Center) และ  Adam London บริษัททดสอบจรวด Rocket 1 ครั้งแรกในช่วงปี 2018 แต่ประสบความล้มเหลว ต่อมาในปีเดียวกันบริษัทประสบความล้มเหลวในการทดสอบจรวด Rock 2 แต่บริษัทยืนจรวดประสบความสำเร็จบางส่วน


ในช่วงปี 2020 บริษัทประสบความล้มเหลวในการทดสอบจรวด Rocket 3.0 และ Rocket 3.1 แต่ในการทดสอบจรวด Rocket 3.2 จรวดสามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศระดับความสูงประมาณ 390 กิโลเมตรแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร อย่างไรก็ตามบริษัทกลายเป็นบริษัทเอกชนด้านอวกาศแห่งแรกที่สามารถส่งจรวดขึ้นอวกาศได้รวดเร็วมากที่สุดนับจากการก่อตั้งบริษัท


ในช่วงปี 2021 บริษัทประสบความล้มเหลวอีกครั้งในการทดสอบจรวด  Rocket 3.3 / LV0006 และการทดสอบครั้งล่าสุดจรวด Rocket 3.3 / LV0007 ประสบความสำเร็จในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมส่งแบบจำลองดาวเทียม STP-27AD2 ของกองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกา (U.S. Space Force) เข้าสู่วงโคจรต่ำของโลก (LEO) หรือระดับความสูงประมาณ 500 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก



จรวด Rocket 3.3 ถูกพัฒนาขึ้นมาจากจรวด Rocket 3.2 จัดอยู่ในประเภทของจรวดเชื้อเพลิงเหลวใช้น้ำมันก๊าซแบบ RP-X และออกซิเจนเหลว Liquid oxygen จรวดมีความสูงประมาณ 11.6 เมตร แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน First Stage จรวดส่วนที่ 1 ติดตั้งเครื่องยนต์ Delphin 5 เครื่องยนต์ Second Stage จรวดส่วนที่ 2 ติดตั้งเครื่องยนต์ Aether 1 เครื่องยนต์ จรวดสามารถส่งดาวเทียมน้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม เข้าสู่วงโคจรต่ำของโลก (LEO) 


สำหรับแผนการในอนาคตบริษัทวางแผนพัฒนาและทดสอบจรวด Rocket 4 และ Rocket 5 ในช่วงปี 2022 หากการพัฒนาจรวดเสร็จสมบูรณ์บริษัทเตรียมให้บริการส่งดาวเทียมขนาดเล็ก (Small Satellite) ได้ 1 ภารกิจต่อวันโดยใช้ต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำในแต่ละภารกิจ เปิดโอกาสให้บริษัทขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยหรือกลุ่มเยาวชนที่สนใจเทคโนโลยีอวกาศสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น ภารกิจส่งดาวเทียมดวงเล็ก ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าเดิม นับเป็นความท้าทายทางด้านวิศวกรรมจรวดขนส่งอวกาศ




ข้อมูลจาก newatlas.com 

ภาพจาก astra.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง