FamilyMart ในญี่ปุ่นเปิดตัวหุ่นยนต์เติมสต็อกสินค้าในร้านสะดวกซื้อ 300 สาขา
การเติมสินค้าใส่ตู้แช่เย็น เป็นหนึ่งในกิจวัตรที่ลดประสิทธิภาพการทำงานและบั่นทอนสภาพจิตใจพนักงานร้านสะดวกซื้อมากที่สุด เพราะทั้งเสียเวลาและแรงงาน รวมถึงยังต้องทำงานในพื้นที่คับแคบซึ่งสร้างความไม่สะดวกสบาย แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) เครือร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ได้จับมือกับบริษัท เทเลซิสเท็นซ์ (Telexistence) สตาร์ตอัปสัญชาติเดียวกัน ในการแก้ปัญหานี้ด้วยหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์ในการบริการ (Robot as a Service: RaaS) ในระบบสมัครสมาชิก (Subscription) รายเดือน เพื่อให้แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) ลดต้นทุนการดูแล และทางเทเลซิสเท็นซ์ (Telexistence) ก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่
ทีเอ็กซ์ สการา (TX SCARA) เป็นหุ่นยนต์ที่ทางเทเลซิสเท็นซ์ (Telexistence) นำมาใช้ให้บริการเติมสินค้ากับแฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) ขับเคลื่อนและสั่งการหุ่นยนต์ในทุกขั้นตอนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีชื่อว่ากอร์ดอน (GORDON) ซึ่งมีพื้นฐานการพัฒนาร่วมกันกับบริษัทเทคชื่อดังของโลกอย่างไมโครซอฟต์ (Microsoft) ประจำญี่ปุ่น บนพื้นฐานระบบคอมพิวเตอร์บนคลาวด์ (Cloud Computing) และผู้ผลิตชิปกราฟิกชื่อดังเอ็นวิเดีย (NVIDIA) ที่ร่วมพัฒนาชิปสำหรับช่วยเร่งการทำงานของกอร์ดอน (GORDON) ให้กับทีเอ็กซ์ สการา (TX SCARA) ส่งผลให้ตัวเครื่องสามารถเติมสินค้าหลังตู้แช่ทั้งขวด และกระป๋องสินค้าได้มากถึง 1,000 ชิ้นต่อวัน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาสินค้าในตู้แช่เย็นหมด และในกรณีระบบกอร์ดอน (GORDON) ขัดข้อง บริษัทก็สามารถควบคุมระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาได้โดยไม่รบกวนการทำงานของพนักงานในสาขาแต่อย่างใด
โทโมชิโระ คาโนะ (Tomoshiro Kano) ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาร้านค้าและแฟรนไชส์ของแฟมิลีมาร์ท (FamilyMart) เชื่อว่าระบบหุ่นยนต์บริการ (RaaS) ที่ตกลงร่วมกันกับเทเลซิสเท็นซ์ (Telexistence) จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นได้ รวมถึงยังช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของพนักงานในด้านการบริการลูกค้ารวมถึงดูแลภาพรวมของสาขาได้
เทเลซิสเท็นซ์ (Telexistence) เชื่อว่าทีเอ็กซ์ สการา (TX SCARA) จะมีอนาคตที่สดใส หากความร่วมมือกับแฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) ยังคงดำเนินต่อไป บริษัทก็จะสามารถให้บริการหุ่นยนต์ได้ทั่วทั้ง 16,000 สาขา และยังรวมถึงตลาดร้านสะดวกซื้อที่มีทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 40,000 สาขา ที่ต้องการบริการหุ่นยนต์ในลักษณะนี้ และทางบริษัทตั้งเป้าบุกตลาดบริการในสหรัฐอเมริกากว่า 150,000 สาขา ในอนาคตอีกด้วย
ที่มาข้อมูล NVIDIA, The Robot Report
ที่มารูปภาพ NVIDIA