รีเซต

สรุป! จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ “ตาลีบัน” ยึดครองอัฟกานิสถาน พร้อมถ่ายโอนอำนาจ เพื่อยุติการสู้รบ

สรุป! จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ “ตาลีบัน” ยึดครองอัฟกานิสถาน พร้อมถ่ายโอนอำนาจ เพื่อยุติการสู้รบ
Ingonn
16 สิงหาคม 2564 ( 10:02 )
1.1K

 

เป็นที่น่าจับตาไปทั่วโลก เมื่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน หลังจากสหรัฐฯ ถอนทหารเพียง 1 เดือน ทำให้ “ตาลีบัน” ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงเมืองเอกเกินครึ่งได้เป็นที่เรียบร้อย รวมถึงกรุงคาบูลด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทางรัฐบาลอัฟกานิสถานได้ประกาศแล้วว่า จะมีการถ่ายโอนอำนาจให้กลุ่มตาลีบัน เพื่อยุติการสู้รบอย่างสันติ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตกที่นั่งลำบาก ว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ขณะที่นักวิชาการบางส่วนมองว่า ศึกครั้งนี้คล้ายกับ “สงครามไซ่ง่อน” สงครามเวียดนาม ที่กองทัพอเมริกันถอนทหารในปี 1975

 

 

“ตาลีบัน” เริ่มปฏิบัติการโจมตีกองกำลังรัฐบาลอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม เปิดฉากที่จังหวัดเฮลมันด์ ทางตอนใต้ เป็นแห่งแรก หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 14 เมษายนว่า จะเริ่มถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม สิ้นสุดวันที่ 11 กันยายน ยุติการติดหล่มสงครามยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐนานถึง 20 ปี

 

 

โดย “กลุ่มตาลีบัน” ถึงกรุงคาบูลในวันนี้แล้ว หลังยึดเมืองสำคัญต่าง ๆ มาได้ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ใช้เวลามากกว่า 30 วัน ซึ่งทาง ตาลีบัน ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้อาวุธหรือความรุนแรงเข้ายึดครองเมืองหลวงและจะเปิดทางให้ผู้ที่ต้องการอพยพเดินทางออกไปได้โดยไม่มีการทำร้ายหรือสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์

 

 

ก่อนหน้านี้ ตาลีบันเคยยึดครองอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งหมดตั้งแต่ปี 1996-2001 ซึ่งภายใต้การปกครองของตาลีบัน ยังให้ที่พักพิงแก่เครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ของโอซามา บิน ลาเดน หลังอัลกออิดะห์โจมตีในสหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายนปี 2001 หรือเหตุการณ์ที่ทั่วโลกรู้จักคือ 9/11

 

ภาพจาก AFP / HERAT, AFGHANISTAN

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงมาสรุปรวมให้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้หลังจาก “ตาลีบัน” เข้ายึดครองเมืองต่างๆ ทั่วอัฟกานิสถานแล้ว และชาวอัฟกันจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรต่อไป

 

 


เกิดอะไรขึ้น เมื่อ “ตาลีบัน” ยึดอำนาจอัฟกานิสถานสำเร็จ

 

1.รัฐบาลอัฟกานิสถานบรรลุข้อตกลงถ่ายโอนอำนาจให้กลุ่มตาลีบัน ที่ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงเมืองเอกเกินครึ่งได้เป็นที่เรียบร้อย เพื่อยุติการสู้รบอย่างสันติ

 

 

2.ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน รวมถึงรองประธานาธิบดี ได้ออกนอกประเทศแล้ว เช่นเดียวกับชาติต่าง ๆ ในยุโรปที่กำลังเร่งอพยพพลเมืองของตัวเองออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีกานี ตกอยู่ใต้แรงกดดันมหาศาลให้ลาออก หลังกลุ่มตาลีบันยึดเมืองต่าง ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา 

 

 

3.กลุ่มตาลีบันได้ปล่อยตัวนักโทษจำนวนมากออกจากเรือนจำใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ในกรุงคาบูล  และทางกลุ่มยังยึดเรือนจำในอดีตฐานทัพอากาศบากรัมได้อีกด้วย โดยในเรือนจำดังกล่าว มีนักโทษมากกว่า 5 พันคน ในจำนวนนี้เป็นนักรบตาลีบัน รวมถึงสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายไอเอสด้วย

 

 

4.การต่อสู้ระหว่างกลุ่มตาลีบันและทหารกองทัพรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนกว่า 250,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย และมีรายงานผู้เสียชีวิตนับพันคนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

 

5.เริ่มอพยพนักการทูตออกจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานแล้ว พร้อมส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐอเมริกากว่า 3,000 นาย เข้าไปรักษาความปลอดภัยให้สนามบินในกรุงคาบูล เพื่อนำนักการทูตและพลเรือนอเมริกันออกจากประเทศ 

 

 

ภาพจาก AFP / KANDAHAR, AFGHANISTAN

 

 

6.เจ้าหน้าที่การทูตของสหรัฐฯ ได้รับคำสั่งเริ่มเผาทำลายเอกสารที่มีเนื้อหาอ่อนไหวทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของนักรบตาลีบันหากกรุงคาบูลถูกยึดครอง 

 

 

7.ผู้อพยพชาวอัฟกัน เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหนีตายจากการสู้รบ แต่ปากีสถานปิดด่านตอร์คามที่เชื่อมจังหวัดไคเบอร์ปักตุนควาของปากีสถาน กับจังหวัดนันการ์ฮาร์ของอัฟกานิสถาน ไม่รับผู้อพยพที่หนีการสู้รบในอัฟกานิสถานได้อีกแล้ว และใกล้จะติดตั้งรั้วตลอดแนวพรมแดนยาวเพื่อป้องกันสมาชิกตาลีบันข้ามพรมแดนเข้ามา

 

 

8.ผู้อยู่ในเมืองที่ตาลีบันยึดครองได้ ถูกบังคับให้ใส่บูร์กา หรือผ้าคลุมแบบอิสลามที่ปกปิดร่างกายทั้งตัว

 

 

9.ทางการอัฟกานิสถานระบุว่า ทหารสหรัฐฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงคาบูล จะทำการอพยพประชาชนออกจากเมืองต่างได้หลายพันคนต่อวัน ด้วยการอพยพทางอากาศ รวมถึงช่วยเหลือประชาชนที่ต้องไร้บ้านด้วย ขณะที่ประชาชนหลายพันคนแออัดกันที่เทอร์มินอลของสนามบินเพื่อหาเที่ยวบินหนีออกจากประเทศ

 

 

10.สหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านอัฟกานิสถานเปิดพรมแดนต่อไป เพื่อให้ชาวอัฟกันที่ไร้บ้าน สามารถอพยพไปได้อย่างปลอดภัย เพราะตอนนี้สถานการณ์กำลังเกินควบคุมแล้ว ขณะเดียวกันยังอ้อนวอนให้นักรบตาลีบันยุติการรุกราน พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกแสดงจุดยืนว่า การใช้กำลังอาวุธเข้ายึดอำนาจการปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

 

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายประเทศเริ่มกังวล คือการบังคับใช้ “กฎหมายชารีอะห์” ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามที่สุดโต่งในการปกครอง แม้ทาง “ตาลีบัน” จะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า การยึดครองครั้งนี้ จะมีการเคารพสิทธิและการแสดงออกของสตรี "แต่ต้องเป็นไปตามกรอบ" ส่วนนโยบายต่างประเทศนั้น กลุ่มตาลีบันมีจุดยืนชัดเจนในการไม่แทรกแซงฝ่ายใด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับเกียรติในระดับเดียวกัน

 

ภาพจาก AFP / CHAMAN, PAKISTAN

 

 

 

ภาพจาก AFP / CHAMAN, PAKISTAN

 

 

 

ข้อมูลจาก TNN WORLD

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง