จีนสร้าง “แว่นตาอัจฉริยะ” ติด AI นำทางผู้พิการสายตาเดินได้แบบอิสระ

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยี AI เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก สามารถให้คำแนะนำ และบอกทางให้ผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
แว่นตาอัจฉริยะที่ว่านี้ ใช้โครงสร้างของแว่น กูเกิล กลาส (Google Glass) แว่นตาอัจฉริยะติดกล้องจากบริษัทกูเกิล ที่เชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ขนาดเล็กโดยระบบจะใช้อัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสำรวจสภาพแวดล้อม และส่งสัญญาณให้ผู้ใช้งาน เมื่อเดินเข้าใกล้สิ่งกีดขวางหรือวัตถุต่าง ๆ
กล้องที่อยู่บนแว่นตาจะจับภาพและข้อมูลบริเวณด้านหน้าของผู้ใส่ ข้อมูลภาพนี้จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก มีอัลกอริธึม AI ที่จะวิเคราะห์และระบุวัตถุสำคัญ เช่น ตำแหน่งของเก้าอี้ และอัปเดตข้อมูลใหม่ตามตำแหน่งของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป เพื่อบอกทางผู้พิการได้อย่างปลอดภัยทีละขั้นตอน
นอกจากแว่นตาซึ่งติดกล้องที่ให้ภาพด้านหน้าแล้ว ผู้ใช้งานยังต้องสวมอุปกรณ์ที่นักวิจัยเรียกว่า “ผิวหนังสังเคราะห์” (synthetic skin) ทำจากวัสดุโพลีเมอร์ มีความยืดหยุ่น และหนาเพียง 0.1-0.2 มิลลิเมตร โดยเป็นอุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์ในตัว ทำหน้าที่แจ้งเตือนผู้ใช้งานถึงวัตถุที่อยู่ด้านข้าง ช่วยเพิ่มความปลอดภัย
โดยเมื่อผู้ใช้งานเดินเข้าใกล้สิ่งกีดขวาง ก็จะได้รับการแจ้งเตือนจากแว่นตาผ่านการนำเสียงผ่านกระดูก (bone conduction) โดยเป็นการส่งแรงสั่นสะเทือนไปที่กระดูกหู และนำเสียงเข้าไปยังหูชั้นในโดยตรง หรือการส่งสัญญาณเสียงผ่านกะโหลกศีรษะ โดยไม่ผ่านช่องหู ทำให้ไม่จำเป็นต้องสวมใส่หูฟังเป็นอุปกรณ์เสริมแต่อย่างใด
สำหรับการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะเพื่อนำทางผู้พิการทางสายตา เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ แมชชีน อินเทลลิเจนซ์ (Nature Machine Intelligence) เป็นที่เรียบร้อย
เป้าหมายของการพัฒนาก็เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์แว่นตาอัจฉริยะ ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยสุนัขนำทาง ไม้เท้า หรือความช่วยเหลือจากผู้อื่น และยังเป็นอุปกรณ์ที่ไม่เทอะทะ จนเป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน รวมถึงมองดูแล้วเหมือนกับแว่นตาทั่วไป ทำให้ดูไม่แตกต่างจากคนสายตาปกติ ช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น