มาเลเซียสู้โลกร้อน อยากช่วยโลกแต่กลัวกระเป๋าฉีก

จากผลสำรวจล่าสุดของ Ipsos ที่เผยแพร่เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ระบุว่า คนมาเลเซียส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยด่วน แต่ก็ยังมีความกังวลว่า มาตรการต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศ
ผลสำรวจภายใต้หัวข้อ “People and Climate Change” เผยว่า แม้ประชาชนยังตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง แต่ความรู้สึกเร่งด่วนในการรับมือกลับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ
ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 60 ของชาวมาเลเซียเชื่อว่ารัฐบาลมีแผนชัดเจนในการรับมือกับปัญหานี้ แต่ยังมีความลังเลว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนจะกระทบต่อการดำรงชีวิตและค่าครองชีพหรือไม่
อีฟลิน ตัน (Evelyn Tan) ผู้อำนวยการ Ipsos Malaysia เปิดเผยว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงภาวะ "ความเหนื่อยล้าจากเรื่องสภาพอากาศ" (climate fatigue) ที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับความกดดันทางเศรษฐกิจและความอยู่รอดในชีวิตประจำวัน เขากล่าวว่า ตามรายงานพบว่า 7 ใน 10 คนมาเลเซียเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แนวโน้มทั่วโลก รวมถึงในมาเลเซีย กลับพบว่ามีจำนวนน้อยลงที่ยังคงรู้สึกถึงความเร่งด่วนเหมือนในอดีต ซึ่งอาจเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกห่างเหินจากความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อเรื่องนี้ คนมาเลเซียจำนวนไม่น้อยยังมองว่า มาตรการด้านสภาพภูมิอากาศอาจเป็นภัยคุกคามต่อการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญความท้าทายในการหาจุดสมดุล เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก คนมาเลเซียมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการปฏิรูปด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ความตระหนักรู้ของสาธารณชนต่อโครงการระดับชาติต่าง ๆ เช่น แผนพลังงานหมุนเวียนของมาเลเซีย (Malaysia Renewable Energy Roadmap: MyRER) และแผนส่งเสริมการเดินทางด้วยคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Mobility Blueprint) ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องของการรับรู้ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในระยะยาว
อีฟลิน ตัน กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระยะยาว หากเราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เราต้องทำให้ชาวมาเลเซียรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทางออก ไม่ใช่ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง