รีเซต

ราชวงศ์ซาอุฯ ใจป้ำ ควักเงินปีละ 3.4 หมื่นล้านบาท วิจัยการชะลออายุขัย

ราชวงศ์ซาอุฯ ใจป้ำ ควักเงินปีละ 3.4 หมื่นล้านบาท วิจัยการชะลออายุขัย
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2565 ( 15:41 )
98
ราชวงศ์ซาอุฯ ใจป้ำ ควักเงินปีละ 3.4 หมื่นล้านบาท วิจัยการชะลออายุขัย

นอกเหนือจากการเอาชีวิตรอด หนึ่งในสัญชาตญาณที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ คือการต่อสู้กับความชรา  ทุกสัญชาตญาณของมนุษย์มีเป้าหมายช่วยให้เราสามารถอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้อีกวัน 


และทุกวันนี้เราก็ก้าวหน้าไปมากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางการแพทย์ มนุษย์ในปัจจุบัน มีชีวิตที่ยืนยาวกว่าบรรพบุรุษของเรา โดยเราสามารถเปลี่ยนโรค หรืออาการป่วยที่ดูจะรักษาไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่ความชรานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าสุขภาพร่างกายจะแข็งแรงแค่ไหน แต่มนุษย์ก็หยุดความชราไม่ได้ และคำถามมีอยู่ว่า เราจะทำให้กระบวนการนี้ ช้าลงได้ไหม?


ล่าสุด ซาอุดีอาระเบียได้ริเริ่มลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) ต่อปีในการค้นคว้าวิจัยเพื่อชะลออายุขัย ตามรายงานของ MIT Technology Review โดยในรายงานระบุว่า ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียก่อตั้ง Hevolution Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งจะมุ่งเน้นลงทุนในการวิจัยที่เกี่ยวกับชีววิทยาการแก่ตัวลงของมนุษย์ ทั้งยังมองหาวิธีที่จะขยายขอบเขตช่วงวัยที่มีสุขภาพที่ดีให้เพิ่มออกไป ไม่จำกัดอยู่แค่ตอนหนุ่มสาวเท่านั้น



แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศหมุดหมายการวิจัยใด ๆ ออกมาอย่างชัดเจน แต่นักวิจัยด้านชะลออายุขัย กำลังรวมตัวกันในมูลนิธิดังกล่าว โดยจะใช้ความมั่งคั่งด้านน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย เพื่อนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปต่อยอดสู่โครงการวิจัยระดับเมกะโปรเจกต์ในด้านการชะลออายุขัย


“เป้าหมายหลักของเราคือขยายช่วงอายุแห่งการมีสุขภาพที่ดี” เมห์มูด ข่าน (Mehmood Kahn) อดีตศัลยแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อที่ Mayo Clinic ผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง CEO ของมูลนิธิในปี 2020 เผย


"ไม่มีปัญหาทางการแพทย์ใด ๆ ที่ใหญ่กว่านี้อีกแล้วบนโลกใบนี้ "



ปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถคิดค้น ‘ยาอายุวัฒนะ’ ที่มีสรรพคุณและประสิทธิภาพที่เห็นผลได้ชัดเจนออกมา ด้วยเหตุนี้ Hevolution Foundation จึงได้เริ่มต้นการวิจัยขั้นพื้นฐานในเรื่องนี้ รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับยา ที่จะช่วยให้กระบวนการแก่ชราในมนุษย์ถูกชะลอ



ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหนึ่งในการศึกษาที่เริ่มมีผู้สนับสนุนและเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามา คือ กระบวนการผลิตยา Targeting Aging with Metformin หรือ TAME trial ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นทดลองในชั้นคลินิกครั้งสำคัญ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบว่ายาดังกล่าว ชะลอกระบวนการแก่ตัวในมนุษย์ได้หรือไม่ 


เนียร์ บาร์ซิไล (Nir Barzilai) ผู้ริเริ่มการทดลอง TAME จากโรงเรียนแพทย์ Albert Einstein ในนิวยอร์ก ระบุว่ากองทุน Hevolution ตกลงที่จะให้ทุนสนับสนุนส่วนสำคัญของการทดลองนี้ โดยตั้งเป้าหมายถึงการใช้ยาชะลออายุขัยในขั้นแรก ทั้งยังมุ่งเน้นการศึกษาว่า มนุษย์สามารถย้อนกลับกระบวนการชราได้หรือไม่ ?


ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่การศึกษาที่เริ่มต้นในปีนี้ หรือปีหน้าจะสามารถสรุปผลออกมาได้ แต่นี่เป็นก้าวแรกบนเส้นทางอันยาวไกลที่มนุษย์จำเป็นต้องบุกบั่นไปให้ถึง เพื่อตอบคำถามว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์จะสามารถหลบหนีกระบวนการชราภาพได้หรือไม่



ทั้งนี้ เรายังหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ที่มีกลุ่มคนที่ร่ำรวยกำลังระดมเงินทุนอุปถัมภ์การวิจัยต่อต้านวัยเหล่านี้จำนวนมาก เป็นเพราะคนรวยไม่ต้องการตายเร็วเกินไป เพราะพวกเขาสนุกกับชีวิต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่บรรดาคนรวย พยายามยืดเวลาการใช้ชีวิตออกไปให้มากที่สุด


เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้บริหาร แอมะซอน (Amazon.com) ก็เป็นนักลงทุนรายหนึ่ง ที่ช่วยจัดหาเงินทุนให้กับหน่วยงาน Altos Labs ซึ่งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการย้อนกระบวนการชราภาพ เบโซส์ยังช่วยระดมทุนให้ Unity Technologies ในปี 2018 ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ทำงานด้านยาและการบำบัดชะลออายุขัย อย่างไรก็ดี ตอนนี้ ยังไม่มีรายงานการลงทุนใด ๆ ของเบโซส์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร Hevolution ออกมา


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com

ที่มาของรูปภาพ Danie Franco / Unsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง