รีเซต

เช็กอาการแบบไหน ? ขี้ลืมทั่วไป หรือ ภาวะสมองเสื่อม

เช็กอาการแบบไหน ? ขี้ลืมทั่วไป หรือ ภาวะสมองเสื่อม
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2567 ( 14:20 )
8
เช็กอาการแบบไหน ? ขี้ลืมทั่วไป หรือ ภาวะสมองเสื่อม

การขี้ลืมหรือหลงลืมเป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะเป็นอยู่บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน แต่เมื่ออาการลืมเริ่มมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงาน เราอาจจะเริ่มกังวลว่ามันเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ จะพาไปดูความแตกต่างระหว่างอาการหลงลืมทั่วไปกับภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้เข้าใจและสามารถดูแลรักษาอาการได้อย่างเหมาะสม


โดยอาการขี้ลืมหรือหลงลืม กับ ภาวะสมองเสื่อม ดังต่อไปนี้

อาการขี้ลืมทั่วไป มักเกิดขึ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาการนี้อาจเป็นผลจากการมีสภาวะเครียด วิตกกังวล หรือมีภารกิจยุ่งเหยิงในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องใช้สมาธิและความตั้งใจในการจดจำมากกว่าปกติ อาการขี้ลืมทั่วไปมักเป็นเรื่องของการลืมรายละเอียดเล็ก ๆ ไม่สำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น การลืมสิ่งของว่าวางไว้ที่ไหน การลืมเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่ได้ใช้บ่อย ๆ หรือการลืมการนัดหมายที่ไม่สำคัญ

ส่วนภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่มีอาการลืม และเป็นมากขึ้นจนมีผลต่อการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จนไม่สามารถใช้ชีวิตตามลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานของผู้สูงอายุ  ภาวะสมองเสื่อมมีอาการที่พบบ่อย เช่น ลืมชื่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่พบกันเป็นประจำ ลืมข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น การนัดหมาย โดยที่ได้มีการบอกซ้ำหรือจดไว้แล้ว ลืมหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำ /ซึ่งการลืมนี้เป็นการลืมแบบกู้ไม่ขึ้น ภาวะสมองเสื่อมจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และมักมีอาการที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ


ส่วนอาการแบบไหนที่บ่งบอกว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

-บุคลิกภาพเปลี่ยนไป

-มีปัญหาในการลำดับทิศทางและเวลา

-หลงลืมบ่อย ๆ

-ความจำเสื่อมโดยเฉพาะความจำระยะสั้น

-ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้

-มีปัญหาด้านการสื่อสารและการใช้ภาษา

-มีอารมณ์แปรปรวน


สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม มักมีสาเหตุที่เกิดจากหลายปัจจัยแตกต่างกันไป ดังนี้

-การเสื่อมของเซลล์ประสาท : จากการที่มีโปรตีนบางชนิดไปสะสมทำให้เซลล์ประสาทได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อปัญหาในการทำงานของสมอง

-โรคเรื้อรัง : เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง

-อายุ : เมื่อมีอายุมากขึ้น เซลล์สมองบางส่วนเกิดการตาย และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อมได้

-พันธุกรรม : หากมีความผิดปกติของพันธุกรรมบางอย่าง จะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการมีภาวะสมองเสื่อม


สำหรับการรักษาภาวะสมองเสื่อม ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดอย่างชัดเจน การรักษามักมุ่งเน้นไปที่การลดอาการโดยการใช้ยาบางประเภทที่ใช้ในการควบคุมอาการและพยายามชะลอ และวิธีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงและส่งเสริมให้สมองทำงานได้ดียิ่งขึ้นได้ คือ

-การออกกำลังกาย : จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อสมองและช่วยให้กระบวนการสมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น

-การดูแลสุขภาพทั่วไป : การรักษาโรคที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง

-การฝึกสมองในผู้สูงอายุ : ช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำและการประมวลผลข้อมูลของผู้ที่เริ่มมีอาการขี้ลืม หรือเริ่มมีภาวะสมองเสื่อมในระยะต้น

-การดูแลอารมณ์และจิตใจ : ปรับเปลี่ยนการคิดเชิงบวกและการจัดการกับความเครียดจะช่วยลดการเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้


ข้อมูลจากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง