รีเซต

รัฐประหารเมียนมา: สื่อรัฐบาลเมียนมา เผย ออง ซาน ซู จี โดนอีกข้อหารับสินบนนักธุรกิจ อาจจำคุกสูงสุด15 ปี

รัฐประหารเมียนมา: สื่อรัฐบาลเมียนมา เผย ออง ซาน ซู จี โดนอีกข้อหารับสินบนนักธุรกิจ อาจจำคุกสูงสุด15 ปี
ข่าวสด
18 มีนาคม 2564 ( 16:02 )
64

เมื่อ 18 มี.ค. ทางการเมียนมาเริ่มตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีกครั้งเพื่อปิดกั้นการสื่อสารระหว่างกลุ่มชุมนุมประท้วงรัฐประหาร ขณะที่สื่อโทรทัศน์รัฐบาลเมียนมาระบุ นางออง ซาน ซู จี กำลังถูกดำเนินคดีอีกข้อหาฐานรับสินบนนักธุรกิจ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด15 ปี

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภายในวันนี้หน่วยงานรัฐของเมียนมาจะปิดการเข้าถึงสัญญาณเทอร์เน็ตทั้งหมด รวมทั้งจุดกระจายสัญญาณไวไฟ ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้สื่อสารกัน ประชาชนในหลายพื้นที่ อย่างในทวาย รายงานว่าไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว

 

สำนักข่าวเอกชนแห่งหนึ่งในท่าขี้เหล็กได้เผยแพร่ภาพถ่ายคนงานกำลังตัดสายเคเบิลที่เชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากชายแดนไทย

 

Reuters
ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมในนครร่างกุ้งเมื่อ 17 มี.ค.

 

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าสถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมาได้เผยแพร่คลิบวิดีโอนักธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นประธานบริษัท Say Paing Construction ที่อ้างว่าเขาได้ให้สินบนนางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐเป็นเงิน 550,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 17 ล้านบาท โดยมีการส่งมอบเงินที่บ้านพักของเธอทั้งหมด 4 ครั้ง ระหว่างปี 2561-2563 เพื่ออำนวยสะดวกให้ธุรกิจของเขาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ในการสัมภาษณ์ เขาระบุว่าไม่มีผู้ใดเป็นพยาน

 

Reuters
นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา นางซู จี ก็ถูกควบคุมตัวโดยไม่ทราบสถานที่ และถูกดำเนินคดีมาแล้วอย่างน้อย 4 ข้อหา

สถานีโทรทัศน์ MRTV ระบุอีกว่า ข้อหาการละเมิดกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันที่กองทัพดำเนินคดีต่อนางซู จี อาจจะทำให้เธอต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี นี่ยังไม่รวมกับ 4 ข้อหาที่ฟ้องต่อศาลในกรุงเนปิดอว์ก่อนหน้านี้

 

EPA
ทนายความของนางซู จี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังจากการไต่สวนทางไกลต้องยุติลงกลางคัน เพราะปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตในกรุงเนปิดอว์

ปัจจุบันนางซู จียังคงถูกควบคุมตัว โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและมองว่าการดำเนินคดีต่อนางซู จีเป็นเหตุผลทางการเมือง

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลมีกำหนดไต่สวนนางซู จี แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากมีปัญหาการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตที่ศาล หลังจากรัฐบาลพม่าสั่งตัดสัญญาณโทรคมนาคมเพื่อกีดขวางการสื่อสารของกลุ่มผู้ชุมนุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

 

ยอดผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 217 รายนับตั้งแต่ก่อรัฐประหาร

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่กองทัพเมียนเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่บันทึกได้มีจำนวนอย่างน้อย 217 ราย แต่จำนวนที่แท้จริงอาจจะสูงกว่านี้มาก

 

Reuters

ชาติตะวันตกหลายประเทศกล่าวประณามการก่อรัฐประหารพร้อมกับเรียกร้องให้ทางการเมียนมายุติการก่อความรุนแรงต่อประชาชนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซู จี และผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ขณะเดียวกันหลายชาติในอาเซียนก็ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อช่วยหาทางออกในวิกฤตนี้เช่นกัน

 

เศรษฐกิจของเมียนมาที่ซบเซาจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 ต้องพบกับภาวะชะงักงันจากการประท้วงยืดเยื้อและการผละงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติต้องชะลอแผนธุรกิจและการลงทุนในเมียนมา

 

EPA

ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติออกคำเตือนในสัปดาห์นี้ว่าราคาสินค้าอาหารและเชื้อเพลิงทั่วประเทศที่กำลังสูงขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มครอบครัวผู้ยากไร้ในการอุปโภคบริโภค

 

กต. จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรายงานวันนี้ (18 มี.ค.) ว่าขณะนี้มีคนไทยที่อยู่ในเมียนมา 687 คน ในจำนวนนี้อยู่ในย่างกุ้ง 428 คน และเมืองอื่น ๆ อีก 259 คน เกือบทั้งหมดเป็นนักธุรกิจและพนักงานบริษัทที่ลงทุนทำธุรกิจในเมียนมา

 

ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตติดต่อสื่อสารกับทุกคนอย่างใกล้ชิดหลังเกิดสถานการณ์การเมืองในเมียนมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. และแนะนำให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุม สำหรับคนที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยให้ติดต่อสถานทูตได้ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง