รีเซต

เจาะลึกกฎหมายเก็บค่าใช้น้ำ ได้เวลาปลูกจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ

เจาะลึกกฎหมายเก็บค่าใช้น้ำ ได้เวลาปลูกจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ
TNN ช่อง16
3 กุมภาพันธ์ 2567 ( 14:55 )
45
เจาะลึกกฎหมายเก็บค่าใช้น้ำ ได้เวลาปลูกจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ

เจาะลึกกฎหมายเก็บค่าใช้น้ำ ได้เวลาปลูกจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ

 “น้ำ” คือชีวิต น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอย่างยิ่ง และมีความสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงมนุษย์    อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแม้จะมีความพยายามรณรงค์ให้เห็นคุณค่าของน้ำ ใช้น้ำที่มีอยู่อย่างประหยัดและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็ตาม แต่ยังมีการใช้ทรัพยากรน้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย ขาดการยับยั้งชั่งใจในการใช้น้ำ เพราะต่างคิดว่า น้ำไม่มีวันจะหมดจากโลก แต่ในความจริงแล้วน้ำที่คิดว่าไม่มีวันจะหมดไปนั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้แหล่งน้ำที่สะอาดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อีกด้วย

  

ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้รักษ์น้ำ รู้คุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ตลอดจนรู้จักการหมุนเวียนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ เพราะน้ำคือชีวิตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด ดั่งพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความตอนหนึ่งว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”

อย่างไรก็ตาม เพื่อผู้ใช้น้ำทุกรายมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำและคิดวางแผนการใช้น้ำอย่างครอบคลุม ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำเป็นจะต้องมีกฎหมายมาควบคุมในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสพระราชทานในการบริหารจัดการน้ำในภาวะขาดแคลนน้ำของประเทศไทย

ความตอนหนึ่งว่า “...น้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้น ยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ...”

 ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกฎกระทรวง ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและกลไก ในการบริหารจัดการน้ำด้านอุปสงค์ ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำแก่ผู้ใช้น้ำ เพื่อจะได้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรอบคอบยิ่งขึ้น รวม 5 ฉบับ และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อวันทีี 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นกฎกระทรวงที่เสนอโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) 3 ฉบับ ได้แก่

1.กฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. 2567 กฎกระทรวงฉบับนี้ได้กำหนดการใช้น้ำไว้ 3 ประเภทคือ การใช้น้ำประเภทที่ 1 เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน ซึ่งเป็นการใช้น้ำของคนส่วนใหญ่ในประเทศ การใช้น้ำประเภทที่ 2 เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้น้ำประเภทที่ 3 เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

2.กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 3 พ.ศ. 2567 และ 3.กฎกระทรวงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ การเรียกเก็บ ลดหย่อน และยกเว้นค่าใช้น้ำ สำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. 2567

              

 นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกฎกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ดังกล่าว ที่เสนอโดย  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีก 2 ฉบับคือ กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาล พ.ศ. 2567 และกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 พ.ศ. 2567  


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า กฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับท่ี่เสนอโดย สทนช. และอีก 2 ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าวนั้น เป็นกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูก ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปตามเจตนารมย์ที่กำหนดไว้ว่า ให้เป็นกฎหมายในการบูรณาการเกี่ยวกับการจัดสรรการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และรวบรวมทุกหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคประชาชนมาบูรณาการการทำงานเพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำเป็นไปในทิศทางเดียว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ ก่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง

             

สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดให้การใช้น้ำประเภทที่ 1 ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต และไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ แต่ผู้ใช้น้ำต้องให้ข้อมูลแก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้รวบรวมจัดส่งให้ สทนช. นำไปวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในภาพรวม เพื่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำด้านอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ต่อไป
 

โดยหลักแล้วประชาชนส่วนใหญ่่ที่ใช้น้ำอยู่จะในการใช้น้ำประเภทที่ 1 มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อยังชีพ  การใช้น้ำเพื่อการเกษตรปลูกพืชต่างๆ หรือแม้กระทั่งการทำนาปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ไม่มีการเก็บค่าน้ำ ดังนั้นเกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าจะไปเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด ยกเว้นการใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ยังคงต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล และบางกิจการที่ใช้น้ำบาดาลอาจต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาก็มีการชำระค่าใช้น้ำบาดาลอยู่แล้ว         


ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 จะต้องยืนคำขอรับใบอนุญาตพร้อม “แผนบริหารจัดการน้ำ” ต่ออธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณีว่าทรัพยากรน้ำที่ใช้นั้นหน่วยงานไหนรับผิดชอบ    

สำหรับค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตการใช้น้ำ แม้มีการกำหนดไว้ก็จริง แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยเป็นอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต 5 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วต้องยืนขอใบอนุญาตการใช้น้ำใหม่

อย่างไรก็ตามสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ก็ได้รับการยกเว้นค่าใช้น้ำในบางกิจการเช่นกัน เช่น การผลิตน้ำเพื่อให้บริการ ด้านอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนของหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เฉพาะกรณีที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อชั่วโมง ดังนั้นประปาหมู่บ้านที่ให้บริการประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือประปาภูเขาที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่สูง ที่ผลิตน้ำประปาให้บริการโดยไม่ได้แสวงหากำไร ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ เช่นเดียวกับการผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคในโรงเรียน หรือการใช้น้ำในโรงพยาบาล ก็ได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำ เป็นต้น


สำหรับอัตราค่าใช้น้ำ กำหนดไว้ดังนี้ ในเขตชลประทาน เป็นไปตามกฎหมายว่า ด้วยการชลประทาน ซึ่งกำหนดค่าชลประทานในอัตรา 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาลหมายว่าด้วยการชลประทาน พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดไว้ในอัตรา 0.373 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่อาจไม่มีต้นทุนค่าก่อสร้าง ทำให้สามารถจัดหาน้ำได้ในราคาที่ถูกกว่า ส่วนค่าใช้น้ำบาดาล ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล


เลขาธิการ สทนช. กล่าวอธิบายยืนยันว่า เกษตรกรรายย่อย ตลอดประชาชนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน ทำการเกษตรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน ซึ่งใช้น้ำในปริมาณที่ไม่มาก ล้วนอยู่ในการใช้น้ำประเภทที่ 1 ทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ รวมทั้งการนำน้ำมาผลิตประปาหมู่บ้าน โดยไม่แสวงผลกำไร การผลิตน้ำดื่มของโรงเรียน การนำน้ำมาใช้ในโรงพยาบาล หรือนำมาทำงานด้านสังคมเพื่อสาธารณะประโยชน์ แม้จะไม่ได้อยู่ในการใช้น้ำประเภทที่ 1 แต่ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าน้ำ ดังนั้น การออกประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว จึงไม่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่จะสร้างความเป็นธรรมในการใช้น้ำ รู้จักคุณค่าของน้ำมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ใช้น้ำรายใหญ่ และใช้เพื่อแสวงหาผลกำไร จะต้องจ่ายค่าน้ำในอัตราที่เหมาะสม จากเมื่อก่อนที่ไม่จ่ายค่าใช้น้ำเลย ทั้งๆ ที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของ  


“การเก็บค่าใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ไม่ใช่การเก็บด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
 แต่มีเจตนารมณ์เพื่อผู้ใช้น้ำทุกรายมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำ คิดวางแผนการใช้น้ำอย่างครอบคลุม ใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”  เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำในตอนท้าย 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง