รีเซต

#เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร เจาะความจริง! วัคซีนไฟเซอร์ ด่านหน้าได้ฉีดเท่าไหร่ ส่อง THVaccine โควตาพิเศษเฉพาะ VVIP

#เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร เจาะความจริง! วัคซีนไฟเซอร์ ด่านหน้าได้ฉีดเท่าไหร่ ส่อง THVaccine โควตาพิเศษเฉพาะ VVIP
Ingonn
27 กรกฎาคม 2564 ( 11:40 )
234
#เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร เจาะความจริง! วัคซีนไฟเซอร์ ด่านหน้าได้ฉีดเท่าไหร่ ส่อง THVaccine โควตาพิเศษเฉพาะ VVIP

 

วัคซีนไฟเซอร์เป็นเรื่องราวที่อลหม่านไม่จบไม่สิ้น ตั้งแต่ไทยได้รับวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ล็อตแรกจำนวน 1.54 ล้านโดส แต่กลับมีกระแสแฮชแท็ก #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร ขอความร่วมมือตรวจสอบและระบุเงื่อนไขในการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ให้ถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้ถูกใช้ตามเป้าหมายอย่างถูกต้อง

 

 

ด้านกระทรวงสาธารณสุขเผยข้อเท็จจริงกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ามีไม่น้อยกว่า 500,000 โดส พร้อมฉีดต้นเดือน ส.ค. นี้ ส่วนอีก 20 ล้านโดสจะเริ่มฉีดในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง พื้นที่ระบาด พร้อมทั้งระบุว่า ใครเผยแพร่ข่าวปลอม ทำเกิดความสับสน ปั่นป่วน จะถูกดำเนินคดี

 

 


#เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร เกิดจากอะไร


แคมเปญ “จับตาไฟเซอร์” เกิดจาก Nurses Connect, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และหมอไม่ทน ร่วมมือกันยกระดับการติดตามแผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงของกระทรวงสาธารณสุข หลังมีแผนจัดสรรค์ว่าจะลดโควต้าของบุคลากรทางการแพทย์ลงจาก 700,00 โดส เหลือ 500,000 โดส

 

 

บุคลากรทางการแพทย์เตรียมยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา ขอความร่วมมือช่วยตรวจสอบและระบุเงื่อนไขในการจัดสรรวัคซีน 1.54 ล้านโดส ให้ถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง

 

 

โดยมีกำหนดการยื่นจดหมายเปิดผนึกจากบุคลากรทางการแพทย์ไทย ถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.30 น.

 

 

“ขอความร่วมมือประชาชนทุกท่านร่วมกันเฝ้าจับตาการมาถึงของไฟเซอร์ ในอีก 2 วันไปพร้อมกับพวกเรา เพื่อให้วัคซีนไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับตามความเสี่ยง และความจำเป็น ไม่ให้มีการบิดเบี้ยวของแผนไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง และเราจะไม่ยอมให้ VIP คนไหนมาขโมยวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนไปฉีดก่อนแน่นอน”

 

 

 

 

 


THVaccine วัคซีนไฟเซอร์ โควตาพิเศษ


เว็บไซต์ THVaccine  ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ โควตาพิเศษ จำกัด 20,000 โดส เริ่มฉีด 25 สิงหาคม 2564 สำหรับประชาชนทั่วไป อายุ 12-80 ปี ค่าบริการรวมทุกค่าใช้จ่ายแล้วโดสละ 1.5 XMR หากเต็มแล้วจะปิดรับลงทะเบียนทันที พร้อมเงื่อนไข จะรับเงินคริปโตในสกุล USDT บนบล็อกเชน ERC-20 และ TRC-20 เท่านั้น โดยราคาค่าจองกว่าโดสละ 1 หมื่นบาท

 

 

ซึ่งได้รับการจัดสรรมาจากรัฐบาล “หลังจากที่คณะผู้ใหญ่ได้รับวัคซีน mRNA มาเกินจำนวนที่ต้องการ” จึงมอบหมายให้ THVaccine ขายโควตาที่ได้รับมา เพื่อให้ผู้จองได้เข้าถึงวัคซีนเร็วขึ้น ทั้งนี้เป็นเพียงแค่การจองคิวให้เข้าถึงวัคซีนได้ก่อน ไม่ใช่การขายตัววัคซีนแต่อย่างใด

 

 


ทาง THVaccine บอกบนเว็บไซต์ว่า เป็นราคาที่สมเหตุสมผล ตามอุปสงค์และอุปทาน และประหยัดกว่าการบินไปฉีดที่ต่างประเทศ “ท่านควรเลือกฉีดวัคซีนตามกำลังทรัพย์ของท่าน”

 

 

 


ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เป็นการแอบอ้าง หลอกลวงเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และเรียกเก็บเงิน โดยทางโฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำว่าวัคซีนไฟเซอร์ทั้ง 21.54 ล้านโดส เป็นการฉีดฟรี ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

 


“การแอบอ้างใดๆก็ตาม การให้ข่าวปลอม ทำให้เกิดความสับสน เกิดความปั่นป่วนในสถานการณ์ที่กำลังวิกฤต ทางกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด”  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง กล่าว

 

 

 

 


กระทรวงสาธารณสุข ย้ำบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสทุกคนตามรายชื่อที่ได้แจ้งไว้ จัดสรรไฟเซอร์ให้ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ฉีดต้นสิงหาคม 2564 ส่วนที่จะเข้ามาอีก 20 ล้านโดส ฉีดในไตรมาส 4 โดยคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด 19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นผู้พิจารณา ไม่มีค่าใช้จ่าย เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม ให้ฟังข้อมูลที่ถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุข

 

 


ข้อเท็จจริง การบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 


1.บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า จะได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดส ไฟเซอร์ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ในต้นเดือนสิงหาคม 2564 อีก 20 ล้านโดส ฉีดในไตรมาส 4 คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด-19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จะเป็นผู้พิจารณา

 


กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ตั้งคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด 19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เพื่อพิจารณาจัดสรร และกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ศบค.) 

 

 

2.วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก จำนวน 1.54 ล้านโดสจะเข้ามาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มฉีดต้นเดือนสิงหาคม 2564 ในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข/บุคลากรด่านหน้า ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ที่เหลือจัดสรรไปยังกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ และเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่ (ไม่มี VIP หรือ VVIP)

 

 

3.ข่าวการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/ด่านหน้าเหลือ 2 แสนโดสนั้น ไม่เป็นความจริง 

 

 

4.ไม่มีการบังคับให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า การฉีดเป็นไปตามความสมัครใจ

 

 

5.ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรบางส่วนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดเข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า มีระดับภูมิคุ้มกันสูงมากมากกว่าฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า, แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, ไฟเซอร์ 2 เข็ม, ซิโนแวค 2 เข็ม 

 


6.วัคซีนไฟเซอร์ทั้ง 21.54 ล้านโดส เป็นการฉีดฟรี ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ขอให้อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมและติดตามข้อมูลที่ถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

 

 

 

คณะทำงานบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์มีใครบ้าง


1 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงาน


2. ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


3. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ


4. ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


5. หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข


6. ผู้แทนกรมการแพทย์


7. ผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ


8. ผู้แทนกรุงเทพมหานคร


9. ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข


10. นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย


11. นพ.นพพร ชื่นกลิ่น


12. ศ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ


13. รศ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ


14. ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค


15. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นคณะทำงานและเลขานุการ


16. ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะทำงาน และผู้ช่วยเลขานุการ

 

 

 

หน้าที่และอำนาจคณะทำงานบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์


1. พิจารณาจัดสรร และกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19(ศบค.)


2. กำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์


3. เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการระบบลูกโซ่ความเย็นของคลังวัคซีน และหน่วยบริการในทุกพื้นที่ให้สามารถรองรับวัคซีนไฟเซอร์


4. เตรียมความพร้อมและฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องให้บริการวัคซีนไฟเซอร์


5. สนับสนุนการขยายมรรถนะของระบบบริกการ รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างสถานบริการภาครัฐและเอกชน ให้สามารถให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ ตามมาตรฐานได้อย่างครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ภายในช่วงเวลาที่กำหนด


6. กำกับ ติดตาม ประเมินผลการให้บริการ และจัดทำข้อมูลรายงานผลการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์


7. นำเสนอผลการให้บริการแก่คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19


8. ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามบุคคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า จะได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดส ไฟเซอร์ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ในต้นเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนอีก 20 ล้านโดส ฉีดในไตรมาส 4 คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด 19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จะเป็นผู้พิจารณา


ข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC , กรมประชาสัมพันธ์  , antifakenewscenter , thvaccine , hfocus 

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง