รีเซต

เปรียบเทียบยานอวกาศ Soyuz รัสเซียและยาน Crew Dragon สหรัฐอเมริกา

เปรียบเทียบยานอวกาศ Soyuz รัสเซียและยาน Crew Dragon สหรัฐอเมริกา
TNN ช่อง16
7 มีนาคม 2565 ( 00:51 )
130

เทคโนโลยียานอวกาศได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงสงครามเย็น  ปัจจุบันการแข่งขันด้านอวกาศลดน้อยลงและเปลี่ยนเป็นความร่วมมือในการสำรวจอวกาศ ยานอวกาศ Soyuz ของประเทศรัสเซียกลายเป็นหนึ่งในยานอวกาศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่งและต่อปรับปรุงใช้งานมาอย่างต่อเนื่องนับจากเที่ยวบินแรกในปี 1966 ในขณะที่ยานอวกาศ Crew Dragon พัฒนาโดยบริษัท SpaceX ในสหรัฐอเมริกากลายเป็นเทคโนโลยียานอวกาศที่ทันสมัยมากที่สุดและสามารถนำยานอวกาศกลับมาใช้งานซ้ำเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งอวกาศ


ยานอวกาศ Soyuz


หนึ่งในยานอวกาศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่งในวงการอวกาศ ออกแบบและพัฒนาโดย Korolev Design Bureau ปัจจุบัน คือ บริษัท Energia โครงสร้างของยานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้วยกันประกอบด้วย 


Orbital Module โครงสร้างความสูงประมาณ 2.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2 เมตร ทำหน้าที่เป็นส่วนเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และพื้นที่สำหรับเตรียมตัวสำหรับนักบินอวกาศที่ต้องทำภารกิจเดินอวกาศภายนอกยาน 


Descent Module โครงสร้างความสูงประมาณ 2.1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2 เมตร ทำหน้าที่เป็นห้องโดยสารสำหรับนักบินอวกาศ รองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 3 คน รวมไปถึงบรรทุกสัมภาระบางส่วนภายใน Module นี้ด้วย


Instrumentation and Service Module โครงสร้างความสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2 เมตร ทำหน้าที่เป็นระบบขับเคลื่อนยานและระบบผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ความกว้างประมาณ 10.6 เมตร


ยานอวกาศ Soyuz มีลักษณะใกล้เคียงกับยาน Progress แต่ยาน Progress ออกแบบให้ใช้ทำภารกิจขนส่งทรัพยากรเท่านั้นไม่สามารถขนส่งมนุษย์อวกาศได้ ปัจจุบันยานอวกาศ Soyuz ถูกพัฒนาปรับปรุงเป็นเจเนอเรชันที่ 4 ชื่อว่า Soyuz MS รัสเซียใช้ทำภารกิจมาตั้งแต่ช่วงปี 2016  


ยานอวกาศ Crew Dragon


ยานอวกาศที่ใช้ทำภารกิจขนส่งมนุษย์อวกาศของบริษัท SpaceX ทดสอบเดินทางขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกแบบไร้นักบินอวกาศในปี 2019 ก่อนทำการทดสอบภารกิจแบบมีนักบินอวกาศในปี 2020 


โครงสร้างของยาน Crew Dragon แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 


Capsule ส่วนที่ใช้เป็นห้องโดยสารของยานอวกาศรองรับนักบินอวกาศได้ประมาณ 4 คน ในภารกิจปกติแต่สำหรับภารกิจฉุกเฉินสามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับนักบินอวกาศได้ถึง 7 คน ส่วนของ Capsule ทำหน้าที่เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS 


Trunk ส่วนที่ใช้เป็นพื้นที่เก็บสัมภาระที่เดินทางไปพร้อมยานอวกาศ รวมไปถึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เอาไว้บริเวณผิวด้านนอกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในกระบวนการเดินทางกลับโลก Trunk จะแยกตัวออกจาก Capsule โดย Trunk จะถูกทำลายในชั้นบรรยากาศ ส่วน Capsule พร้อมนักบินอวกาศจะเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย


ยาน Crew Dragon มียานอวกาศอีกลำที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ Cargo Dragon ถูกออกแบบให้ใช้ทำภารกิจขนส่งทรัพยากรขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยไม่มีนักบินอวกาศอยู่ภายในยาน


ในช่วงแรกของการพัฒนายานอวกาศ Crew Dragon ถูกออกแบบให้เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Falcon 9 และเดินทางกลับโลกโดยใช้เครื่องยนต์จรวด SuperDraco ทำการลงจอดบนพื้นดิน ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการให้ยานลงจอดโดยร่มชูชีพกลางมหาสมุทร ส่วนเครื่องยนต์จรวด SuperDraco ที่อยู่ด้านข้างของ Capsule ถูกปรับเปลี่ยนเป็นระบบแยกตัวหนีฉุกเฉินให้กับยานขณะเดินทางขึ้นสู่อวกาศ


ข้อมูลจาก spacex.comesa.int 

ภาพจาก spacex.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง