รีเซต

มนุษย์อาจเป็นตัวการ ทำสัตว์โลกสูญพันธุ์ มากถึง 260,000 สายพันธุ์

มนุษย์อาจเป็นตัวการ ทำสัตว์โลกสูญพันธุ์ มากถึง 260,000 สายพันธุ์
TNN ช่อง16
23 กรกฎาคม 2567 ( 17:48 )
22
มนุษย์อาจเป็นตัวการ ทำสัตว์โลกสูญพันธุ์ มากถึง 260,000 สายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีกนานาชนิด ที่ต่างก็ต้องล้มหายตายจากไปตลอดกาล ด้วยน้ำมือของมนุษย์เช่นกัน 


จนถึงตอนนี้ เรารู้แล้วว่า มนุษย์ล้วนส่งผลกระทบกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์บนโลกนี้ แต่คำถามที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ พยายามค้นหาคำตอบอย่างมาก คือ แล้วมีสัตว์กี่สายพันธุ์บนโลกนี้ที่สูญสิ้นไปจากการกระทำของมนุษย์ 


---มนุษย์ทำสัตว์สูญพันธุ์มาหลายพันปี---


นักวิทยาศาสตร์อาจไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการจะตรวจสอบว่า มีสัตว์ทั้งหมดกี่ชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว คงต้องย้อนเวลาไปหลายล้านปี และเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในยุคนั้น เพื่อที่จะสำรวจเรื่องนี้เท่าไหร่ 


แม้เราจะไม่สามารถย้อนเวลาได้หลายล้านปี แต่ก็มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ระบุว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในช่วงศตวรรษที่ 1500 จนถึงปัจจุบัน มีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 777 ชนิด 


บางสายพันธุ์สูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อพิจารณาว่า มนุษย์นั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อธรรมชาติบ้าง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมา 


อันที่จริง มนุษย์มีส่วนที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์มาเป็นเวลาหลายพันปี ก่อนช่วงศตวรรษที่ 1500 แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถย้อนเวลาไปใช้ชีวิต และสำรวจสิ่งต่าง ๆ ในช่วงยุคนั้นได้ ทำให้มีความไม่แน่นอนในการคำนวณอัตราการสูญพันธุ์ในเวลาดังกล่าวได้ ฉะนั้น เราจึงโฟกัสแค่ที่ช่วงเวลาประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา 


---สัตว์สูญพันธุ์นับแสนตั้งแต่ยุคสมัยใหม่---


IUCN ยอมรับว่า ได้ประเมินความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสปีชีส์ที่มนุษย์รู้จัก ได้แค่ 5% เท่านั้น นั่นหมายความว่า มีสัตว์มากมายที่อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว และไม่ได้รับการบันทึก 


ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Reviews เมื่อปี 2022 ชี้ว่า อันที่จริงแล้ว มีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 150,000-260,000 สายพันธุ์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1500 เป็นต้นมา ไม่ใช่แค่ 777 สายพันธุ์ตามรายงานของ IUCN


ตัวเลขดังกล่าว เป็นจำนวนที่เยอะมาก จน โรเบิร์ต โควี ศาสตราจาร์วิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย เผยความรู้สึกว่า เขานึกว่า ตัวเองคำนวณผิดพลาด แต่อันที่จริงแล้ว เขาไม่ได้คำนวณผิดแต่อย่างใด 


ทีมวิจัยของเขาได้สุ่มตัวอย่างหอยทากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยใช้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ก่อนหน้านี้ พร้อมขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อระบุจำนวนหอยทากที่สูญพันธุ์ไปแล้ว


หลังจากนั้น พวกเขาก็นำมาคำนวณว่า มีหอยทากกี่สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แล้วนำอัตราดังกล่าว มาคาดการณ์กับสัตว์ทุกชนิดที่รู้จักในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา 


อัตราการสูญพันธุ์ที่พวกเขาคำนวณได้ คือ 150-260 E/MSY และเมื่อเอาอัตรานี้ ไปเทียบกับกลุ่มสัตว์ป่าอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนก จะพบว่า อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์กลุ่มนี้ อยู่ที่ 10-243 E/MSY 


---E/MSY คืออะไร---


อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะกำลังงงงวยว่า หน่วย E/MSY คืออะไร 


E/MSY ย่อมาจาก อัตราการสูญพันธุ์ต่อสัตว์ 1 ล้านชนิดต่อปี เป็นอัตราที่ใช้วัดอัตราการสูญพันธุ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 


ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ หากอัตราการสูญพันธุ์ เท่ากับ 1 E/MSY นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยจะมีสัตว์ 1 สายพันธุ์จากจำนวนสัตว์ 1 ล้านชนิดที่สูญพันธุ์ไปต่อ 1 ปี หรือ หากอัตราการสูญพันธุ์ เท่ากับ 100 E/MSY แสดงว่า มีสัตว์ 100 สายพันธุ์จากจำนวนสัตว์ 1 ล้านชนิดที่สูญพันธุ์ไปต่อ 1 ปี 


จากการคำนวณของทีมโควี ที่ระบุว่า มีอัตราการสูญพันธุ์อยู่ที่ 150-260 E/MSY จะเท่ากับว่า สัตว์ทุกชนิดนับล้านตัวบนโลกนี้ จะมีอัตราการสูญพันธุ์ที่หายไปประมาณ 150-260 สายพันธุ์ในทุก  ๆ ปี เช่นเดียวกับอัตราการสูญพันธุ์ที่ 10-243 E/MSY เท่ากับจะมีสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ราว 10-243 สายพันธุ์ต่อปี 


แม้จะมีตัวเลขที่คำนวณออกมาได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้ตัวเลข 100 E/MSY เป็นค่ากลางในการคำนวณหาอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ 


แล้วเอาสูตรคำนวณ 100 E/MSY มาใช้กับวิธีของโควี จะพบว่าในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 100,000 ชนิด จากสัตว์ทั้งหมดกว่า 2 ล้านชนิดบนโลกใบนี้ โดยตัวเลขดังกล่าว ไม่ได้นับรวมสัตว์ที่ไม่ได้ถูกบันทึก หรือ ถูกค้นพบโดยมนุษย์ไว้


ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology เมื่อปี 2011 ระบุว่า บนโลกนี้มีสัตว์ทั้งหมดราว 7.7 ล้านสายพันธุ์ ถ้าหากเรานำตัวเลข 100 E/MSY มาคำนวณโดยอิงกับตัวเลขจำนวนสัตว์ของผลการศึกษานี้ เพื่อหาจำนวนสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วทั้งหมด 385,000 สายพันธุ์ 


(สูตรคำนวณ: 100 E/MSY x 7,700,000 สายพันธุ์ x 500 ปี = 385,000 สายพันธุ์)


และหากต้องการคำนวณว่า มีสัตว์กี่สายพันธุ์ที่สูญหายไปด้วยฝีมือมนุษย์ เราจะต้องหาค่า ของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติ หรือ กาลเวลาของพวกมัน โดยใช้สูตรคำนวณที่ 1 E/MSY จะพบว่า สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติอยู่ที่ 3,850 สายพันธุ์ 


(สูตรคำนวณ: 1 E/MSY x 7,700,000 สายพันธุ์ x 500 ปี = 3,850 สายพันธุ์)


จากนั้น ให้เอาจำนวนสัตว์ทั้งหมดที่สูญพันธุ์ ลบกับสัตว์ที่สูญพันธุ์ตามธรรมชาติ จะเท่ากับ 385,000 - 3,850 = 381,500 สายพันธุ์ 


ฉะนั้น จำนวนแนวโน้มของสัตว์ที่สูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา โดยอิงจากผลการศึกษาปี 2011 จะพบว่าอยู่ที่ 381,500 สายพันธุ์ 


---อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ---


แม้จะมีวิธีการคำนวณค้นหาตัวเลขจำนวนสัตว์ที่หายไปในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา ให้เราได้ทราบกันว่า มีสัตว์นับแสนที่หายไปตลอดกาลด้วยฝีมือมนุษย์ แต่การคำนวณดังกล่าว ยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรปักใจเชื่อจนเกินไป 


จอห์น อัลลอย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภภาพ แห่งมหาวิทยาลัยแมกควอรี ในออสเตรเลีย กล่าวกับเว็บไซต์ Live Scince ว่า การคำนวณเพื่อหาอัตราการสูญพันธุ์ให้แม่นยำเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก 


“เราไม่สามารถกำหนดอัตราการสูญพันธุ์ให้เที่ยงตรงได้ในเวลานี้” อัลลอย กล่าว 


ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจเรื่องอัตราการสูญพันธุ์โดยรวมทั้งหมด นักวิจัยจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับจำนวนสัตว์ที่แท้จริงทั้งหมดบนโลกนี้ เนื่องจากยังมีสัตว์อีกมากมายที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในทางวิทยาศาสตร์ และยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทำให้ยากต่อการระบุจำนวนที่แม่นยำ โดยเฉพาะแมลง ซึ่งเป็นสัตว์ที่สายพันธุ์มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่มนุษย์กลับรู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับพวกมันน้อยมาก 


ไม่ว่าตัวเลขการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้จะอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่ หลักร้อย หลักพัน หรือ หลักแสน แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์มองเห็นตรงกัน นั่นคือ มนุษย์มีส่วนที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขาเชื่อว่า มีสัตว์ที่สูญพันธุ์มากกว่า 777 สายพันธุ์ที่ทาง IUCN คาดการณ์เอาไว้อย่างแน่นอน 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.livescience.com/animals/how-many-animal-species-have-humans-driven-to-extinction

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8728607/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง