รีเซต

เด็กเรียนสาย “วิทย์-คณิต”น้อยลง เรียนยากไป หรือ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน?

เด็กเรียนสาย “วิทย์-คณิต”น้อยลง เรียนยากไป หรือ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน?
TNN ช่อง16
3 พฤศจิกายน 2566 ( 17:11 )
132

“สาเหตุที่เด็กเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ น้อยลง เนื่องจากวิชาวิทยาศาสตร์แบ่งย่อยเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวมถึง คณิตศาสตร์ด้วย หาก เด็กที่จะไปต่อในสายนี้วิชาเหล่านี้ต้องทำได้ดีทั้งหมด และหนักที่ใช้การคิดหาเหตุผลมาวิเคราะห์ ซึ่ง ยากกว่าสายศิลป์ที่เน้นเรื่องการท่องจำมากกว่า ดังนั้น สายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จึงเป็นยาขมสำหรับเด็กหลายคน” (ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา,นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค)


              สัปดาห์นี้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่ง การเรียนการสอนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากการระบาด และเกิดช่องว่างของคุณภาพการเรียนรู้ ทำให้เรื่องของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เป็นฐานความรู้ในการสร้างคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ นำกลับมาหารือแลกเปลี่ยนกันอีกครั้ง ขณะเดียวกัน พบว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนกำลังคนในด้านนี้ และหากเจาะลงไปตั้งแต่การเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา พบว่า กลุ่มของเด็กนักเรียนในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีแนวโน้มลดลงด้วย



รศ.ดร. พินิติ รตะนานุกุล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ระบุว่า จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่าปัจจุบันมีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,049,121 คน เป็นนักเรียนสายศิลป์ 699,814 คน สายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 349,307 คน ขณะที่ นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 30 จากนักเรียน 100 คน ถือว่าลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต และเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ประเทศไทยถือว่ามีเด็กที่จะเรียนในสายดังกล่าวน้อยมาก ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลต่อกำลังคนในอนาคต โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


สำหรับปัจจัยที่ทำให้เด็กเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ลดลง รศ.ดร. พินิติ ระบุว่า มาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น นักเรียนอาจมีความรู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นวิชายากที่จะเข้าใจ ทำให้เกิดความกลัวที่จะศึกษาต่อ และรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ ทำโจทย์มากจนเกินไป ทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากเรียน และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ จะต้องปรับ ทัศนคติการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตั้งแต่วัยประถมศึกษา,ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สนุก, เชื่อมโยงกับสิ่งใกล้ตัว และในชีวิตประจำวัน, สามารถนำสิ่งที่เรียนมาอธิบายปรากฏการณ์ กับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวันได้ จะทำให้เด็กเกิดความสนุกในการเรียน


รศ.ดร. พินิติ ให้ความเห็นในเรื่องการเลือกสายเรียนมีผลต่อการจบมาแล้วมีงานทำหรือไม่ ว่า การเรียนในสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องไปหางานทำ แต่ต้องเป็นการเรียนที่สามารถสร้างงานได้ หรือ เป็นผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ ความต้องการในตลาดแรงงานมีอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะเป็นในสาขาวิชาที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการประกอบอาชีพ หรือสร้างอาชีพขึ้นมาได้เอง เช่น การเรียนทางด้านคณิตศาสตร์ สามารถใช้ประโยชน์นี้ ในการประกอบอาชีพทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ การสร้างเทคโนโลยีทางด้านไอที ขึ้นมาได้ หรือ เรียนในสาขาวิชาชีววิทยา หรือ เคมี ก็นำความรู้ไปประกอบอาชีพที่ทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ส่วนค่าตอบแทนในการทำงานจะขึ้นอยู่กับศักยภาพและความรู้ของผู้ที่จะไปทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ หากเป็นผู้ที่รู้ลึกรู้จริงก็สามารถที่จะทำงานได้ดี และเป็นที่ต้องการของผู้จ้างงาน หรือแม้กระทั่งสามารถนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพเองได้


ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย มีความพยายามและมีการพัฒนา รูปแบบ การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในสถานศึกษา เพื่อให้เยาวชน เข้าถึงมากขึ้น มีการส่งเสริมเด็กไทยในการเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ด้านต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่ง เยาวชนไทยสามารถสร้างชื่อเสียงคว้าเหรียญ ได้ทุกครั้ง แต่สิ่งสำคัญนอกจากการเรียนวิชาการแล้ว ต้องควบคู่กับการเรียนในรายวิชาอื่นด้วย เพื่อให้เด็กมีความคิดรอบด้าน และนำไปสู่การประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพได้



ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองว่า สาเหตุที่เด็กเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ น้อยลง เนื่องจากวิชาวิทยาศาสตร์แบ่งย่อยเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวมถึง คณิตศาสตร์ด้วย หาก เด็กที่จะไปต่อในสายนี้วิชาเหล่านี้ต้องทำได้ดีทั้งหมด และหนักที่ใช้การคิดหาเหตุผลมาวิเคราะห์ ซึ่ง ยากกว่าสายศิลป์ที่เน้นเรื่องการท่องจำมากกว่า ดังนั้น สายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จึงเป็นยาขมสำหรับเด็กหลายคน ทั้งนี้ เด็กที่สามารถเรียนสายนี้ได้สุดจริง สามารถไปเป็นแพทย์ วิศวกร หรือ นักวิจัย ซึ่งเป็นอาชีพที่ยังขาดแคลนกำลังคนอีกจำนวนมาก แต่ขั้นตอนที่จะไปถึงอาชีพเหล่านั้น เช่น การสอบ จำนวนคะแนน หรือ เงื่อนไขหลักสูตร มักจะทำให้ได้คนมาเรียนได้ไม่เยอะ ส่วนสายวิทย์แบบพื้นฐาน เช่น กลุ่มเกษตร สัตวบาล หรือ นักวิทยาศาสตร์ทำแล็ป มีโอกาสเข้าเรียนได้มากกว่า แต่อาชีพเหล่านี้รายได้อาจน้อยกว่าไปประกอบอาชีพส่วนตัว หรือ ไปเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อาจไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา



ณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร นักวิจัยทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุจุฬาฯ มองว่าปัญหาการศึกษาไทยในขณะนี้ คือ เรื่องหลักสูตรที่ยังไม่ปรับให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป หลายปีที่ผ่านมามีการผลักดันหลูกสูตรฐานสมรรถนะ แต่ยังไม่สำเร็จเพราะยังไม่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง หลักสูตรปัจจุบันนี้ ร้อยละ 90 เน้นพัฒนาทักษะทางสมอง เน้นความรู้ค่อนข้างมากแต่เด็กไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง นักเรียนไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนยาวนานติดอันดับโลก แต่ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ  PISA กลับพบว่า เด็กไทยอายุ 15 ปี ถึงร้อยละ 52.7  ไม่สามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ มาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์อย่างง่ายด้วยตนเอง และ ร้อยละ 44.5  ไม่สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติได้ สะท้อนว่า หลักสูตรไม่ส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้  


ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามในการปรับปรุงหลักสูตรหลายครั้ง แต่ยังพบว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงยึดโยงกับเนื้อหาหลักที่มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2544 หรือ เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ทำให้ผู้เรียนเสียโอกาส และส่งผลไปถึงเมื่อจบการศึกษาไป มีงานทำ แต่ทำงานไม่เป็น หรือ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ เป็นต้น ดังนั้น เรื่องการศึกษายังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้ผู้เรียนไปสู่จุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง