รีเซต

สิทธิลาคลอด 120 วัน ก้าวสำคัญของแรงงาน แต่เพียงพอไหมต่อการหยุดวิกฤตเกิดน้อย?

สิทธิลาคลอด 120 วัน ก้าวสำคัญของแรงงาน แต่เพียงพอไหมต่อการหยุดวิกฤตเกิดน้อย?
TNN ช่อง16
17 กรกฎาคม 2568 ( 15:04 )
10

ในที่สุด ผู้หญิงตั้งครรภ์ในไทยก็สามารถลาคลอดได้ 120 วัน หลังจากในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 สภามีมติ เพิ่มสิทธิลาคลอดจากเดิม 98 วัน เป็น 120 โดยที่นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้าง 50% ของวันลา ทั้งยังเพิ่มสิทธิลาเพื่อช่วยคู่สมรสที่คลอดบุคร ให้สามีลาช่วยเลี้ยงลูกได้ 15 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างด้วย 

นี่ถือเป็นความสำเร็จในการขับเคลื่อนสิทธิผู้หญิง และแม่ รวมไปถึงสามี เพื่อส่งเสริมการมีบุตร เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกจ้าง และเสริมสร้างความผูกพันของครอบครัว

แต่กว่าจะมาถึงวันที่ผู้หญิงมีสิทธิลาได้ถึง 120 วันนี้ ก็ผ่านการต่อสู้เพื่อสิทธิลาคลอดของผู้หญิงเมื่อ 30 ปีก่อน และในสภาเอง พรรคประชาชน และเครือข่ายภาคประชาชนที่ยังต่อสู้เพื่อให้แรงงานได้สิทธิลาคลอด 180 วัน ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกด้วย 


กว่าจะมาเป็น 120 วัน การต่อสู้ของแรงงานหญิงเพื่อวันลาคลอด

ในช่วงทศวรรษ 2530 หากแรงงานหญิงท้อง มีความเสี่ยงที่จะถูกไล่ออกจากงาน ต้องหลบซ่อนนายจ้างว่าตั้งครรภ์ ไปถึงยอมทำแท้ง เพราะกลัวความเสี่ยงที่จะตกงาน รวมไปถึงยอมพักฟื้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ยอมกลับมาทำงาน แม้สภาพร่างกายยังไม่ฟื้นฟู 

โดยกฎหมายประกันสังคม เมื่อปี 2533 ระบุไว้ว่า แรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้เป็นเวลา 60 วัน และได้รับค่าจ้างเพียง 30 วัน ซึ่งในความเป็นจริง สภาพนายจ้าง และเศรษฐกิจนั้นทำให้หลายคนใช้วันลาน้อยกว่านั้น จนในปี 2535 ได้เกิดขบวนการของสตรี เรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วัน 

สิทธิลาคลอด 90 วันนั้น ถือว่าเป็นไปตามความเห็นทางการแพทย์ ในการพิจารณาฟื้นตัวของผู้หญิง ทั้งยังเป็นช่วงที่แม้เองได้มีปฏิสัมพันธโดยตรงกับลูก 

การเรียกร้องของแรงงานสตรี และหน่วยงานเพื่อสิทธิแรงงาน นำมาสู่ความสำเร็จที่ในปี 2535 รัฐบาลอนุมัติให้ข้าราชการหญิงได้สิทธิลาคลอด 90 วัน โดยได้ค่าจ้างเต็ม จากเดิมที่ได้รับค่าจ้าง 45 วัน แต่สิทธินั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงแรงงานที่ไม่ใช่ข้าราชการ จนเกิดการเรียกร้องเพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม 

ในช่วงนั้นแรงงานหญิง และขบวนการเรียกร้อง เจอคำสบประมาทจากรัฐบาลในหลายๆ ครั้ง เพียงเพราะเรียกร้องสิทธิ เช่น ในปี 2535 สมัยที่ อานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกฯ และมี ดร.สายสุรี จุติกุล เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯนั้น ดร.สายสุรี ได้ตอบกลับแรงานที่เรียกร้องสิทธิว่า “อย่ามักมาก” ทั้งรัฐบาลยังแสดงความเห็นต่อสื่อว่า หากให้ลาได้ 90 วัน ผู้หญิงจะมีลูกหัวปีท้ายปีเพื่อลาคลอด

ในปี 2536 ในยุคของรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งแรงงานยังคงยื่นหนังสือ และเรียกร้องสิทธิลาคลอดต่อเนื่องนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เพราะชวลิตบอกว่า “แรงงานที่มาประท้วงไม่ได้ท้องจริง”

แต่การเรียกร้อง และกดดันของภาคประชาชนก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนสุดท้ายรัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องของเครือข่าย และผู้ชุมนุม โดยให้สิทธิลาคลอด 90 วัน และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน โดยเป็นนายจ้างจ่ายค่าแรง 45 วัน 100% และประกันสังคมจ่าย 45 วันหลัง 50% ไม่เกิน 15,000 บาท 

จาก 90 วัน สู่ 120 และการต่อสู้ต่อเพื่อลาคลอด 180 วัน 

แต่ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ กฎหมายไม่ได้การเปลี่ยนแปลงเลย จนกระทั่งปี 2562 มรการปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตร ได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 98 วัน แต่ก็มีการมองว่า 8 วันที่เพิ่มมานั้น เป็นวันลาให้ไปตรวจครรภ์เท่านั้น วันลาคลอดจริงยังคงเป็น 90 วันเท่าเดิม

จนวันนี้ที่สภาผ่านร่างแก้ไขให้ได้ 120 วัน ซึ่งแม้จะถือเป็นความสำเร็จ แต่ภาคประชาสังคม และพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชนเอง ก็อภิปรายในสภาโดยมองว่า แรงงานหญิงควรได้สิทธิ 180 วัน โดยวรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชน ชี้ว่า 180 วัน ตามที่องค์กร Unicef และ WHO แนะนำว่า 6 เดือนคือ่วงการพักฟื้นของแม่ และดีต่อสุขภาพลูกที่ได้ทานนมแม่ ทั้งระยะเวลานี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มอัตราการเกิดของไทยด้วย 

ด้าน Wefair เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการเอง ก็ยกตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่ได้สิทธิลาคลอดอย่างเช่น ‘สวีเดน’ ให้สิทธิลาคลอด 480 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 80% และพ่อแม่ลาร่วมกันได้ หรอเวียดนาม ที่ได้สิทธิลาคลอด 168 วัน และได้รับค่าจ้าง 100% ทั้งอัตราเด็กเกิดที่ต่ำส่วนหนึ่ง มาจากความเป็นแม่ไม่สามารถไปพร้อมกับการทำงานได้ ทำให้ผู้หญิงต้องเลือก ดังนั้น การมีสิทธิลาคลอดเพิ่มขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญการขาดแคลนเด็กได้ 

ถึงอย่างนั้น วรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์ สส.พรรคภูมิใจไทย และประธานกรรมาธิการชี้ว่า ปัจจุบัน ลาคลอด 120 วัน คำนึงถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจไทยด้วย แต่การแก้กฎหมายวันนี้ก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญ ซึ่งหากอนาคตเศรษฐกิจของประเทศพร้อมมากขึ้น ก็มีโอกาสที่แรงงานหญิงจะได้สิทธิ เพิ่มเป็น 150 หรือ 180 วันได้เช่นกัน  

ขณะที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเอง ก็ได้ระบุว่า นอกจากสิทธิของแรงงานหญิงแล้ว สามีก็ควรได้สิทธิเลี้ยงดูภรรยา และบุตรอย่างน้อย 2 เดือนเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ เราก็เห็นได้จากหลายประเทศว่า ไม่ได้สร้างความเสียหาย และเป็นการช่วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ที่ผู้หญิงไม่ต้องเป็นผู้แบกรับภาระเลี้ยงดูเพียงฝ่ายเดียว 


การได้วันลาคลอดเพิ่ม จะแก้วิกฤตการเกิดน้อยได้จริงไหม ?

สำหรับประเทศไทย อัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงรวดเร็วเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยลดลงจาก 3.1 ใน พ.ศ. 2493 มาเป็น 1.3ใน พ.ศ. 2564 หรือลดลงร้อยละ 59.1 และปัจจุบัน ยังคงลดลงต่อเนื่อง และจำนวนเด็กเกิดใหม่ ก็มีน้อยลงกว่าอัตราผู้เสียชีวิตแล้วในปัจจุบัน 

ความสมดุลในชีวิต เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ มีหรือไม่มีลูก ซึ่งคนรุ่นใหม่มักมองว่า การ มีลูกคือการเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละเวลาในการทำงาน และเวลาส่วนตัว โดยผู้หญิงคาดการณ์ว่าคนเสียสละ มักต้องเป็นฝ่ายหญิง ดังนั้นนโยบายการให้สิทธิลาคลอดที่เพิ่มขึ้น ทั้งกับผู้หญิง และผู้ชายที่จะแบ่งเบาผู้หญิงได้นั้น ก็มีตัวอย่างในหลายประเทศที่เห็นได้ว่า ช่วยให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้

เช่นในออสเตรีย ที่ในปี 2532 ขยายการลาคลอด และเลี้ยงดูบุตรจาก 12 เดือน เป็น 24 เดือน ทั้งต่อมาปี 2545 ให้เงินชดเชยสำหรับพ่อแม่ที่ลาเพื่อไปเลี้ยงดูลูก และในปี 2553 ยังเพิ่มความยึดหยุ่นในการลา และสามารถเลือกลายาว 36 เดือน แต่ได้เงินชดเชยน้อยด้วย ทั้งในปี 2560 ยังให้ความเท่าเทียมที่ทั้งพ่อ และแม่ในการลาด้วย ซึ่งพบว่า ทำให้อัตราเกิดในออสเตรียเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5.7%

ในนอร์เวย์ ที่ได้ขยายนโนบายให้พ่อฃาด้วยได้ ตั้งแต่ปี 2536 โดยเป็นการลาที่ได้รับค่าตอบแทนจากเดิม 3 สัปดาห์เป็น 4 สัปดาห์ต่อปี ก็พบว่านโยบายนี้ได้ผลเล็กน้อย คือ อัตราเกิดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1.6 ด้วย 

เห็นได้ว่า แม้จะเป็นเพียงหนึ่งในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มอัตราการเกิด แต่สถานการณ์ของไทยที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤต หากนโยบายสามารถควบคู่ไปกับการช่วยเหลืออื่นๆ อาจเป็นการกระตุ้นอัตราการเกิดได้ไม่มากก็น้อย 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง