ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ 3 ประเทศประชากรลด คนทำงานเป็นเดอะแบก อนาคตจะเป็นอย่างไร ?

11 ก.ค. ของทุกปีคือวันประชากรโลก แต่สถานการณ์ประชากรในปัจจุบันในประเทศกลับลดน้อยลง โดยอีก 100 ปีข้างหน้า ประชากรเกาหลีหายไป 85% ประชากรญี่ปุ่นหายไป 66% ส่วนของไทย อีก 60 ปีข้างหน้า อาจหายไปครึ่งนึง
3 ประเทศที่กำลังเจอสถานการณ์เดียวกัน คือ อัตราการเกิดน้อย คนตายเยอะ และเป็นสังคมสูงวัย ที่คนวัยทำงาน ต้องเป็นเดอะแบกมากขึ้น อนาคตจะเป็นอย่างไร
อัตราการเกิดน้อย คนตายเยอะ ประชากรลดลง
ปีนี้เป็นปีที่ 14 ของญี่ปุ่น ที่ประชากรลดลงต่อเนื่อง และถือเป็นครั้งแรกที่จำนวนญี่ปุ่นลดลงมากที่สุด คือลดลงมาถึง 898,000 คน ในปีเดียวหรือ 0.74% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเหตุผลของการลดลงนี้ ก็มาจากทั้งอัตราการเกิดที่น้อย และจำนวนคนตายที่เยอะกว่าจำนวนเด็กที่เกิด
โดยปี 2024 มีจำนวนเด็กเกิด 686,061 คน และเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มทำการบันทึกในปี 1899 ที่มีเด็กเกิดน้อยกว่า 7 แสนคน ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตนั้นอยู่ที่ 1,605,298 คน หรือมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 2 เท่า ซึ่งด้วยรูปแบบประชากรนี้ ทำให้มีการคาดว่า ในปี 2120 หรืออีกเกือบ 100 ปีข้างหน้า ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 คือหายไป 66% และเหลือประมาณ 40 ล้านคน
ขณะที่เกาหลีใต้เองก็มีการคาดการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมีการประเมินว่า ในปี 100 ปีข้างหน้า หรือปี 2125 เกาหลีใต้จะเหลือประชากรเพียง 15% ของปัจจุบัน คือเหลือเพียง 7.53 ล้านคน จาก 51.68 ล้านคนในปัจจุบัน
ถึงอย่างนั้น มีการคาดการณ์ในกรณีที่ดีที่สุดว่า ประชากรเกาหลีใต้อาจจะไม่เหลือน้อยขนาดนั้น แต่ก็จะมากที่สุดที่ 15.73 ล้านคน ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยกว่าหนึ่งในสามของขนาดปัจจุบัน หรือสรุปแล้ว ค่าเฉลี่ยมัธยฐานประมาณว่าประชากรเกาหลีจะหดตัวอยู่ที่ 11.15 ล้านคน
ด้านไทยนั้น ก็เป็นโมเดลประชาการเดียวกัน คือเกิดน้อย และตายเยอะ ซึ่งอัตราการเกิดจากที่เคยอยู่ประมาณ 7 แสนคนในปี 2017 กลับเหลือเพียง 4.6 แสนคนในปี 2024 แต่ยอดเสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นสวยทางกัน จาก 4.6 แสนในปี 2017 เป็น 5.7 แสนในปี 2024 ทำให้มีการคาดการณ์ว่า หากแนวโน้มเกิด น้อยกว่าตายต่อไปในอนาคตในปี 2083 หรืออีกไม่ถึง 60 ปีข้างหน้า ประชากรไทยอาจเหลือไม่ถึง 33 ล้านคน หรือหายไปครึ่งหนึ่ง
เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สวนทางคนวัยทำงานน้อยลง
สิ่งที่มากับสถานการณ์นี้ ไม่ใช่เพียงแค่ประชากรที่ลดลง แต่คือประชากรส่วนใหญ่ที่ยังอยู่จะเป็นคนสูงวัย และคนวัยทำงานที่น้อยลงนั้น จะกลายเป็น ‘เดอะแบก’ ที่ต้องรับภาระมากขึ้นด้วย
โดยสำหรับญี่ปุ่น แม้อัตราการว่างงานจะต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD แต่กําลังแรงงานของญี่ปุ่นก็ไม่ใหญ่พอที่จะตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้ การคาดการณ์โดย Recruit Works Institute ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นจะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน 11 ล้านคนภายในปี 2040 และในปี 2050 40% ของประชากรจะเป็นคนสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
ด้านเกาหลีใตันั้น โดยปัจจุบันผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปีถือเป็น 20% ของประชากรเกาหลีใต้ แต่จำนวนนี้จะมากขึ้นไปอีก เป็น 46.6% ในปี 2070 หรือใน 45 ปีข้างหน้าทั้งขณะนี้ คนวัยทำงาน ซึ่งคือกลุ่มคนอายุ 15-64 ปี 100 คน จะต้องแบก หรือสนับสนุนผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 30 คน แต่การคาดการณ์ที่แย่ที่สุดในสถานการณ์สังคมสูงวัยคือ ใน 75 ปีข้างหน้า หรือปี 2100 คนทำงาน 100 คน จะต้องแบกผู้สูงอายุถึง 140 คน
ขณะที่ประเทศไทยนั้น อาจจะถือว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยช้ากว่าอีก 2 ประเทศ โดยปัจจุบัน มีผู้สูงอายุประมาณ 12% ขณะที่มีจำนวนคนทำงานประมาณ 72% แต่ในปี 2083 นั้น จะมีคนสูงวัยมากถึง 55% แต่มีคนทำงานเพียงแค่ 42% เท่านั้น และจำนวนเด็กจะต่ำมากลงไปอีกที่แค่ 3%
จริงๆ แล้วนอกจาก 3 ประเทศนี้ หลายประเทศก็กำลังประสบสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เช่น ในฝรั่งเศส จํานวนการเกิดลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 50 ในขณะที่ประชากรของจีนกําลังหดตัวเป็นปีที่สามติดต่อกัน และคาดว่าในอีกไม่กี่ปี อินเดียจะแซงจีนเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลกได้แทน
Sandwich Generation วัยทำงานที่กลายเป็นเดอะแบก
สถานการณ์ที่คนวัยทำงานกลายเป็นเดอะแบกนั้น ที่ต้องรับภาระทั้งดูแลผู้สูงอายุ และเลี้ยงดูลูกของตนเองนั้น มีคำที่เรียกว่า “เดอะแบก” (Sandwich Generation)
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า แนวโน้มประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยลดลง เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการเลี้ยงดูเด็กได้
ดร.สมชัย จิตสุชน
ทั้งการที่ประชากรลดน้อยลงส่งผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การที่มีจำนวนคนทำงานลดลงย่อมทำให้ผลิตผลทางเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่ในด้านสังคม อัตราการเกิดในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้คนในวัยทำงานทยอยลดลงเรื่อย ๆ แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์
“สถานการณ์ประชากรที่ลดน้อยลงจะส่งผลกระทบมากขึ้นหากประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูง รวยกระจุกจนกระจาย อย่างประเทศไทยเป็นต้น เพราะเด็กเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัวที่มีรายได้ไม่สูง เช่นครอบครัวที่มีรายต่ำที่สุดร้อยละ 40 ของประเทศ (bottom 40) ซึ่งเป็นครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพได้ ก็จะส่งผลต่อความสามารถและทักษะการทำงานในอนาคตของเด็กกลุ่มนี้ ทำให้มีรายได้ไม่สูง แต่ต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งผู้สูงอายุ และเด็ก ”ดร.สมชัยระบุ
ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่าสำหรับทางแก้ปัญหานั้น เดอะแบกเองต้องพัฒนาทักษะ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น คนสูงวัยหากยังทำงานได้ ก็สามารถทำงานต่อไป รวมถึงต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่าย ขณะที่สิ่งที่ภาครัฐจะทำได้นั้น คือการปฏิรูปการศึกษา ให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง กระจายศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ รวมถึงที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนาระบบที่คุ้มครองทางสังคมที่เอื้อต่อการมีลูก ทั้งการเพิ่มจำนวนประชากรไทยโดยไม่พึ่งอัตราการเกิดเองก็เป็นหนึ่งทางเลือก เช่นการให้สัญชาติ และพิจารณาดึงแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือเข้ามาในไทยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปในระยะยาว
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
