ส่องรัฐประหาร‘เมียนมา’
หมายเหตุ – ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์การรัฐประหารในประเทศเมียนมา
ส่วนตัวต้องบอกว่ารู้สึกประหลาดใจ เพราะที่ผ่านมาเมียนมามีโอกาสให้เกิดการรัฐประหารเยอะมาก ถ้ามีเหตุการณ์หรือความจำเป็นจริงที่จะต้องรัฐประหาร ทำไมจึงปล่อยให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ปกครองประเทศไปแล้วตั้ง 5 ปีกว่า แล้วค่อยมารัฐประหาร แต่จากทฤษฎีหรือแนวคิดเกี่ยวกับการรัฐประหาร ตามปกติแล้วทหารจะปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนปกครองอยู่สักระยะหนึ่ง เป็นช่วงประชาธิปไตยเชิงทดลอง แต่พอมีเหตุการณ์แตกหัก ต้องเข้าใจว่าผลประโยชน์ของทั้งรัฐบาลพลเรือนและทหาร มีความแตกต่างกัน
กรณีเมียนมา เรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ เรื่องของความปรองดอง อาจจะมีความสำคัญรองลงมา ทหารก็มีธงของเขา รัฐบาลเอ็นแอลดีก็มีธง เมื่อเข้าสู่ปีที่ 6ของการปกครองของรัฐบาลเอ็นแอลดีค่อนข้างชัดเจนว่าที่ผ่านมา 5 ปีกว่า การปรองดองระหว่างกองทัพกับรัฐบาล แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งกองทัพ และรัฐบาลพลเรือน มีการจัดลำดับความสำคัญที่ต่างกัน
คือ กองทัพเองไม่ต้องการให้พรรคเอ็นแอลดี มีอำนาจมากจนเกินไป ก่อนหน้านี้ เวลาดีไซน์รัฐธรรมนูญ ปี 2008 กองทัพก็พยายามทุกวิถีทาง ที่จะกีดกัน ไม่ใช่เฉพาะพรรคเอ็นแอลดี แต่ออกแบบรัฐธรรมนูญเผื่อเอาไว้เลย เพื่อไม่ให้รัฐบาลพลเรือนใดๆ ก็ตามมีอำนาจมากจนเกินไป โดยการให้โควต้า 25 เปอร์เซ็นต์กับกองทัพ และการที่กองทัพ มีพรรคนอมินีของตัวเอง คือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) อีกประการ คือ รองประธานาธิบดี 2 คน มี 1 คนเป็นโควต้าของกองทัพ คือคนที่รักษาการอยู่ตอนนี้ แทนประธานาธิบดี “วิน มินต์” ซึ่งมาจากพรรคเอ็นแอลดี ส่วน นางออง ซาน ซูจี ถือว่าเขามีสถานะเป็นประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ ไม่ใช่ประธานาธิบดี ซึ่งเธอบอกว่า เธอเหนือประธานาธิบดีขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เป็นเหมือน เป็นแม่ของเมียนมาไป กองทัพมองว่านี่คือเรื่องสำคัญ ไม่ต้องการให้อำนาจของกองทัพหายไป เพราะกองทัพสั่งสมบารมีมาอย่างต่อเนื่องหลาย 10 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 จึงไม่ต้องการให้อำนาจเหล่านี้หายไป
แต่รัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดี เป้าหมายตอนแรกที่เข้ามา คือความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้นางออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีให้ได้ หลังจากนั้นก็มีความพยายามที่จะสร้างความปรองดองระดับชาติ โดยการไปเอาผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆ มาคุยกัน และตั้งกรอบการร่วมมือ ตั้งปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 และกระบวนการสันติภาพอีกมากมาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถบรรลุกระบวนการสันติภาพได้ ก็เพราะไม่ใช่กระบวนการสันติ ที่รวมชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มจริงๆ แต่รวมเฉพาะกลุ่มที่รัฐบาลเอ็นแอลดีมองว่าคุยได้ แต่สำหรับคนที่คุยยากหน่อย เช่น กองทัพยะไข่ (Arakan Army) ก็ไม่ได้อยากคุยด้วย ลักษณะรัฐบาลพลเรือนของเมียนมา ไม่ค่อยชอบคุยกัน รัฐบาลเองก็ไม่ค่อยชอบคุยกับกองทัพ กองทัพเองก็มีอีโก้ไม่อยากคุยกับรัฐบาล การขาดการสื่อสารและถกเถียง (lack of conversation and Discussion) เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ไม่ได้อยากหาจุดกึ่งกลางอะไรมากมาย ขอแค่ให้ผ่านหู แล้วไม่ได้มาเหยียบเท้าของกันและกัน ก็โอเคแล้ว
สำหรับกองทัพที่มีรัฐประหาร เพราะเขาเจ็บเท้าแล้ว เพราะพรรคเอ็นแอลดี ไปเหยียบเท้าเขา ให้รู้สึกว่า เขาต้องตะโกนออกมาให้รู้ ก่อนหน้านี้เคยตะโกนมาหลายรอบแล้ว ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 2563 ซึ่งชัดเจนมาก คือมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของกองทัพออกมาว่า ไม่เห็นด้วยกับทางจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เปรียบเสมือนแขนขาของเอ็นแอลดี ประมาณหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา กองทัพจึงบอกเลยว่า ฉันไม่พอใจในสิ่งที่ กกต.ทำ คือ เอ็นแอลดี เองก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบที่ฉันได้ประโยชน์ แต่อะไรก็ตามที่จะส่งเสริมให้พรรคเล็ก-พรรคน้อยเติบโต หรือส่งเสริมให้คนที่ชื่นชอบประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นด้วยกับพรรคเอ็นแอลดีจะไม่ทำ และพยายามกีดกันตลอด ทำให้เมียนมามีพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แค่พรรคหลัก พรรคเดียว ที่จะมีเสียงมากที่สุด คือพรรคเอ็นแอลดี
เมื่อกองทัพเคยพูดแล้วว่า กกต.ไม่เที่ยงตรง เพราะเป็นคนของเอ็นแอลดี และเคยมีกรณีกองทัพที่แอ๊กทีฟที่สุดในตอนนี้ คือ กองทัพยะไข่ ก็เหมือนกับไปพูดคุยกับคนในกองทัพ และรวมหัวกันเพื่อประณามเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกมาก ที่กองทัพยะไข่ในตอนนี้ เป็นกองทัพที่แอ๊กทีฟที่สุด มีการจับตัวประกันอยู่ตลอด นั่นหมายความว่า กองทัพพยายามที่จะหาแนวร่วมเพื่อต่อต้านพรรคเอ็นแอลดี โดยอ้างว่า ไม่เข้าใจ ไม่ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชนกลุ่มน้อย จึงเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์พอสมควร ที่กองทัพยะไข่ซึ่งเป็นกองทัพชนกลุ่มน้อย นำโดยคนรุ่นใหม่ ไปเข้าร่วมกับกองทัพ
ไม่แน่ใจกรณีทวาย ที่ว่าพรรคเอ็นแอลดีอยู่เบื้องหลังการยกเลิกสัญญา ท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย กับบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์ ร่วมทุนระหว่างไทยกับเมียนมา ถือกำเนิดขึ้นในยุคของทหาร ที่ล่าช้ามาตลอดจนถึงยุคเอ็นแอลดี ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว มีการยกเลิกสัญญากว่า 7 ฉบับ เอ็นแอลดีห่วงเสียงของชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านร้องเรียนมาก ว่ามีการไล่ที่ และปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีมาตรฐานในการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะทำให้เอ็นแอลดีรู้สึกหวั่นไหว และไม่ต้องการที่จะเข้าข้าง อิตาเลียน-ไทย ที่สนิทสนมกับกองทัพ นั่นหมายความว่า รัฐบาลไทยต้องหนุนหลังอิตาเลียนไทยอยู่ เพราะเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยที่ไปสร้างท่าเรือน้ำลึก อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันก็ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า การยกเลิกสัมปทานของท่าเรือน้ำลึกโครงการทวาย เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการรัฐประหารเมียนมาอย่างมาก อาจจะเป็นฟางเส้นเล็กที่ถมกันเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี หากสังเกตการแถลงของกองทัพนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารจะมีแถลงการณ์อยู่ 2 ฉบับ พูดถึงการเลือกตั้งว่าไม่มีความถูกต้อง ชอบธรรม กกต.โกง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาแทรกแซงไม่ให้การเมืองเละเทะไปกว่านี้ ทั้งนี้ ไม่มีรัฐประหารใดที่เป็นรัฐประหารอย่างชอบธรรม รัฐประหารก็คือการใช้อาวุธ คือการใช้กำลังเข้ามาล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออาจจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอีกทีนึงก็ได้ ดังนั้น จึงไม่มีความชอบธรรม ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไม่ต้องการที่จะใช้กระบวนการทางรัฐสภา หรือทางประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างกองทัพกับเอ็นแอลดีอีกแล้ว ได้ใช้ทั้งประเทศจับประชาชนทุกคนเป็นตัวประกัน เพราะก่อนหน้านี้ กองทัพพยายามเจรจากับรัฐบาลเอ็นแอลดีและมีข่าวว่ากำลังเจรจาอยู่ แต่เนื่องจากอินเตอร์เน็ตถูกปิดไปทั้ง 3จี 4จี และไวไฟ จึงยังไม่ค่อยเห็นการวิเคราะห์ของคนเมียนมาเท่าไหร่นัก ยกเว้นนักวิชาการที่อยู่ภายนอกประเทศ รวมถึงมีบางคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตช่องทางอื่นได้ หรือสำนักข่าวอย่าง ฟรอนเทียร์ เมียนมา ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ออกมาแล้ว
ถามว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เวลาประกาศกฎอัยการศึก หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน จะประกาศเป็นระยะเวลา 1 ปี นั่นหมายความว่า เขามองเกมนี้ เป็นเกมระยะยาว และมีการเอารองประธานาธิบดี ที่เป็นคนของกองทัพขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แทนประธานาธิบดี สำหรับคนที่ตามการเมืองของเมียนมาจะมีความรู้สึกว่า ไม่ได้มีเหตุผลเพียงพอที่กองทัพจะเข้ามารัฐประหาร การที่อ้างว่า กกต.ไม่มีความชอบธรรม หรือพรรคเอ็นแอลดี ทำเกินเหตุ มีการถือพรรคถือพวก กล่าวอย่างตรงๆ คือ ฟังไม่ขึ้น ซึ่งอาจจะมีสาเหตุอื่นๆ อาจจะมีความขัดแย้งลึกๆ ทั้งภายในกองทัพเอง หรือระหว่างกองทัพกับเอ็นแอลดีที่ไม่ได้บอกสาธารณชนว่าคืออะไร
แต่ตอนนี้ สิ่งที่ทำได้คือตามข้อมูลจากแถลงการณ์ของกองทัพว่ามีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรม และกองทัพต้องการกำจัด กกต.อย่างมาก โดยแถลงการณ์ล่าสุดของกองทัพที่บอกว่า เขาเคยยื่นจดหมายไปทางเอ็นแอลดีแล้ว กกต.ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง และบอกด้วยว่า แต่นางออง ซาน ซูจี ปฏิเสธที่จะตรวจสอบ ชี้ให้เห็นว่าตราบใดก็ตามที่คุณไม่เคารพคำสั่งของกองทัพเท่ากับว่าพยายามกระด้างกระเดื่องหรือไม่ หรือพยายามสถาปนาตัวเองให้ยิ่งใหญ่กว่ากองทัพหรือเปล่า เป็นความกลัว เป็นความพารานอยด์ และด้วยปัจจัยหลายอย่าง
ฉะนั้น จะบอกว่าฟางเส้นสุดท้ายคืออะไร ส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าเขาคิดเรื่องการรัฐประหาร คิดมานานแล้วอยู่ในหัวของผู้นำกองทัพมานานแล้ว เพียงแต่จะรัฐประหารเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แสดงว่าวันนี้เป็นวันที่ฤกษ์ดี