เครื่องดักจับ “ขยะอวกาศ” ไม่พลาดแม้เล็ก 0.1 มิลลิเมตร
โอดิน สเปซ (ODIN Space) สตาร์ทอัพในสหราชอาณาจักรได้พัฒนาเครื่องตรวจจับแรงกระแทกในวงโคจร ที่สามารถช่วยติดตามแม้กระทั่งเศษขยะอวกาศที่มีชิ้นส่วนขนาดไม่ถึงหนึ่งมิลลิเมตร เพื่อติดตามเส้นทาง ไม่ให้มันพุ่งเข้าชนดาวเทียมหรือยานอวกาศ จนก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่าสูงตามมา
ในห้วงอวกาศของเรา มีเศษซากขยะที่เกิดขึ้นจากการชนกันระหว่างดาวเทียม หรือแม้กระทั่งเศษชิ้นส่วนของจรวดต่าง ๆ ที่อาจจะยังตกไม่ถึงพื้นโลก ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ บางชิ้นสามารถเดินทางได้เร็วกว่ากระสุนปืน
และถึงแม้ว่าชิ้นส่วนขยะอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร จะมีเรดาร์และดาวเทียมอื่น ๆ ช่วยติดตามอยู่แล้วแต่เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมยังไม่สามารถตรวจจับชิ้นส่วนขยะอวกาศชิ้นเล็ก ๆ ขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ที่สามารถเดินทางได้เร็วจนแทบจะมองไม่เห็นได้
รวมถึงปัจจุบัน มีการปล่อยดาวเทียมเชิงพาณิชย์หลายพันดวงขึ้นสู่วงโคจรของโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการชนระหว่างดาวเทียมด้วยกันเอง หรือชนกับขยะอวกาศชิ้นอื่น ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกลุ่มเศษซากชิ้นส่วนขยะกลุ่มใหม่ ที่จะกระจายตัวไปทั่ว ก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุนี้โอดิน สเปซ จึงได้คิดค้นระบบตรวจจับน้ำหนักเบา ที่สามารถตรวจจับและระบุชิ้นส่วนขยะที่มีขนาดเล็กถึง 0.1 มิลลิเมตร แม้ว่าจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วหลายพันเมตรต่อวินาทีก็ตาม โดยมีลักษณะเป็นแผงเซนเซอร์สีทอง ที่สามารถติดตั้งไปกับยาวนอวกาศหรือดาวเทียมต่าง ๆ ได้
ทันทีที่มีเศษซากขยะอวกาศพุ่งเข้าชนแผงสีทองนี้ ตัวเซนเซอร์ก็จะตรวจจับแรงสั่นสะเทือน และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลได้ว่าเศษชิ้นส่วนที่พุ่งชนนั้นใหญ่แค่ไหน เคลื่อนที่ได้เร็วแค่ไหน รวมถึงทิศทางที่มันเคลื่อนที่ไป โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้ปล่อยแผงเซ็นเซอร์ตัวแรก ซึ่งมีขนาดเพียง 20x30 เซนติเมตร ไปกับยานส่งดาวเทียมขนาดเล็กของอิตาลี และจะเริ่มรวบรวมข้อมูลเศษซากในเดือนตุลาคมนี้
ซึ่งในอนาคตบริษัทหวังว่าถ้าสามารถทำให้แผงเซนเซอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถติดตั้งบนดาวเทียมอีกหลาย ๆ ดวงได้ ก็จะทำให้สามารถสร้างเครือข่ายข้อมูลเส้นทางขยะอวกาศในวงโคจรได้ครอบคลุมมากขึ้น ช่วยให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ สามารถวางแผนการปล่อยดาวเทียม เพื่อป้องกันการชนกับขยะอวกาศได้มากขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก reutersconnect, reutersconnect