รีเซต

ภาพถ่ายคล้ายฝูงแมงมุมบนดาวอังคารเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ภาพถ่ายคล้ายฝูงแมงมุมบนดาวอังคารเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
TNN ช่อง16
29 เมษายน 2567 ( 18:23 )
67

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เปิดเผยภาพถ่ายล่าสุดจากดาวอังคารโดยยานสำรวจ ExoMars Trace Gas Orbiter (TGO) และ Mars Express ภาพถ่ายดังกล่าวมีลักษณะคล้ายฝูงแมงมุมจำนวนมากบนพื้นผิวดาวอังคาร ส่งผลให้เกิดการแชร์ภาพต่อกันบนโลกออนไลน์และตั้งคำถามว่าเป็นภาพถ่ายแมงมุมบนดาวอังคารจริงหรือไม่ ?


เว็บไซต์ขององค์การอวกาศยุโรปได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพถ่ายแมงมุมบนดาวอังคารเอาไว้ว่า ลักษณะที่เห็นคล้ายขาแมงมุมเกิดขึ้นจากน้ำแข็งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกสะสมไว้ใต้พื้นผิวดาวอังคารในช่วงฤดูหนาว เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนกลายเป็นก๊าซเกิดการระเบิดแตกตัวทุกทิศทาง ดึงเอาเศษฝุ่นด้านล่างขึ้นมาบนพื้นผิวทำให้เกิดเป็นร่องรอยด่างสีดำคล้ายขาแมงมุมบนเนื้อที่ 45 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร


สำหรับภาพถ่ายโดยยาน ExoMars Trace Gas Orbiter (TGO) มองเห็นลักษณะคล้ายขาแมงมุม รวมไปถึงร่องรอยคล้ายใยแมงมุมเชื่อมต่อกันบนแผ่นน้ำแข็ง



สำหรับภาพถ่ายจากยานสำรวจ Mars Express เปิดมุมมองที่กว้างมากกว่า โดยมองเห็นพื้นที่โดยรอบของบริเวณที่ถูกเรียกว่าเมืองอินคา (Inca City) หรือพื้นที่บริเวณ Angustus Labyrinthus ใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ ถูกค้นพบโดยยานสำรวจ Mariner 9 ของนาซาในปี 1972



แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถระบุที่มาของร่องรอยคล้ายฝูงแมงมุมบนดาวอังคารได้ แต่สำหรับพื้นที่ทั้งหมดของเมืองอินคา ซึ่งมีเนื้อที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 86 กิโลเมตร ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และในตอนนี้มีเพียงสมมุติฐาน เช่น เกิดจากวัสดุอย่างแมกมาหรือทรายอาจซึมผ่านแผ่นหินดาวอังคารที่แตกหัก หรือสันเขางเป็นโครงสร้างที่คดเคี้ยวที่เกี่ยวข้องกับธารน้ำแข็ง


โครงสร้างพื้นที่ทั้งหมดของเมืองอินคา บนดาวอังคารมีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับวงรีขนาดใหญ่ ลวดลายคล้ายหินอ่อน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นจากสะสมและสึกกร่อนตามธรรมชาติ บริเวณกึ่งกลางด้านขวาของขอบพื้นที่โดยรอบ มีเนินดินและเนินสูงชันที่มียอดแบนที่โดดเด่นอยู่ 2-3 ยอดเขา ซึ่งสูงมากกว่า 1,500 เมตร เมื่อเทียบกับภูมิประเทศโดยรอบ


ที่มาของข้อมูล ESA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง