รีเซต

นักดาราศาสตร์ตรวจเจอสนามแม่เหล็กของกาแล็กซี่ "ไกลสุดเท่าที่เคยค้นพบ"

นักดาราศาสตร์ตรวจเจอสนามแม่เหล็กของกาแล็กซี่ "ไกลสุดเท่าที่เคยค้นพบ"
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2566 ( 14:53 )
86
นักดาราศาสตร์ตรวจเจอสนามแม่เหล็กของกาแล็กซี่ "ไกลสุดเท่าที่เคยค้นพบ"

นักดาราศาสตร์ตรวจพบสนามแม่เหล็กของกาแล็กซี่ ซึ่งเป็นสนามแม่เหล็กที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ โดยห่างจากโลกไปประมาณ 11,000 ล้านปีแสง นักดาราศาสตร์มองว่าสนามแม่เหล็กนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเอกภพมีอายุได้เพียง 2,500 ล้านปี ผลลัพธ์ที่ได้นี้จะให้ข้อมูลสำคัญแก่นักดาราศาสตร์ว่าสนามแม่เหล็กของกาแล็กซี่นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมไปถึงการเกิดสนามแม่เหล็กของกาแล็กซี่ทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่ด้วย


เจมส์ กีช (James Geach) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า "หลายคนอาจไม่รู้ว่าทั่วกาแล็กซี่ของเราและกาแล็กซี่อื่น ๆ มีสนามแม่เหล็กเจืออยู่ ซึ่งมันทอดยาวไปไกลนับหมื่นปีแสง" ซึ่งผู้ร่วมวิจัยอีกคนชื่อเอ็นริเก โลเปซ โรดริเกซ (Enrique Lopez Rodriguez) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาก็ได้กล่าวเสริมว่า "สนามแม่เหล็กเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิวัฒนาการของกาแล็กซี่ แต่เรารู้น้อยมากว่าสนามแม่เหล็กเหล่านี้ก่อตัวอย่างไร"


ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้ทำแผนที่สนามแม่เหล็กในจักรวาลที่อยู่ใกล้ ๆ โลกเราเท่านั้น ดังนั้นมันจึงไม่ชัดเจนว่าสนามแม่เหล็กในกาแล็กซี่ก่อตัวได้เร็วแค่ไหน


การค้นพบครั้งนี้นักวิจัยใช้หอดูดาวล้ำสมัยอัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array: ALMA) ในประเทศชิลี ซึ่งก็ได้ค้นพบสนามแม่เหล็กที่ก่อตัวชื่อว่า ไนน์ไอโอไนน์ (9io9) โครงสร้างคล้ายคลึงกับสนามแม่เหล็กที่สังเกตได้ในกาแล็กซี่ใกล้เคียง ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสนามแม่เหล็กที่ค้นพบนี้มีกำลังอ่อนกว่าสนามแม่เหล็กโลกประมาณ 1,000 เท่า


นอกจากนี้ การค้นพบดังกล่าว นักวิจัยได้ใช้วิธีค้นหาแสงที่ปล่อยออกมาจากเม็ดฝุ่นในกาแล็กซี่ ทั้งนี้กาแล็กซี่นั้นเต็มไปด้วยเม็ดฝุ่น และเมื่อมีสนามแม่เหล็กมันก็จะทำให้เม็ดฝุ่นมีแนวโน้มที่จะจัดเรียงตัวกันตามทิศทางสนามแม่เหล็ก (เหมือนเข็มทิศเล็ก ๆ เรียงตัวกันตามทิศทางของสนามแม่เหล็กโลก) เมื่อเม็ดฝุ่นเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกับสนามแม่เหล็กแล้วมันก็จะส่งผลต่อแสงที่ปล่อยออกมา ทำให้แสงกลายเป็นแบบโพลาไรซ์ (polarized) คลื่นแสงก็จะแกว่งไปในทิศทางที่ต้องการมากกว่าในทิศทางแบบสุ่ม 


เมื่อหอดูดาวอัลมาตรวจพบและทำแผนที่สัญญาณโพลาไรซ์ที่มาจาก 9io9 สนามแม่เหล็กกาแล็กซี่ที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ ก็ได้รับการยืนยัน


ศาสตราจารย์กีชอธิบายว่า “การค้นพบนี้ให้ข้อมูลใหม่แก่เราว่าสนามแม่เหล็กระดับกาแล็กซี่ก่อตัวอย่างไร” ผู้ร่วมเขียนและนักดาราศาสตร์ร็อบ ไอวิสัน (Rob Ivison) กล่าวว่าการค้นพบนี้ “เปิดหน้าต่างใหม่สู่การศึกษาเกี่ยวกับภายในกาแล็กซี่ เนื่องจากสนามแม่เหล็กมีความเชื่อมโยงอยู่กับสสารที่กำลังก่อตัวดาวดวงใหม่”


นักวิจัยหวังว่าด้วยการสังเกตการณ์สนามแม่เหล็กระยะไกล ทั้งจากงานวิจัยนี้และงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้พวกเราสามารถไขปริศนาว่าลักษณะดาราจักรเหล่านี้ก่อตัวได้อย่างไรนั่นเอง


ที่มาข้อมูล Independent, Phys

ที่มารูปภาพ ESO


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง