รีเซต

วิกฤตโลกร้อนกระทบพะยูนตรัง ตายนับ 10 ตัว แหล่งอาหารหญ้าทะเลหายไปกว่าครึ่ง

วิกฤตโลกร้อนกระทบพะยูนตรัง ตายนับ 10 ตัว แหล่งอาหารหญ้าทะเลหายไปกว่าครึ่ง
TNN ช่อง16
10 มีนาคม 2567 ( 08:41 )
114

นายวิสุท สารสิทธิ์ เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เกาะลิบง จังหวัดตรัง  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เข้าตรวจสอบ ซากพะยูน ที่ลอยมาเกยบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  พบว่าเป็นซากพะยูน  เพศผู้ โตเต็มวัย ความยาว 265 เซนติเมตร  พบว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบความผิดปกติหลายระบบ รวมทั้งมีอาการป่วยเรื้อรังเป็นระยะเวลานานร่วมกับภาวะอ่อนแอจากวัยแก่  


ขณะที่ นายสุวิทย์ สารสิทธิ์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการกู้ชีพทางน้ำเกาะลิบง เปิดเผยว่า  ตั้งแต่ต้นปี 2567 พบพะยูนตายไปแล้ว ประมาณ 10 ตัว ถือว่าสถานการณ์ของพะยูน อยู่ในระดับที่ 5 คือสถานการณ์วิกฤติมาก สาเหตุหลักมาจาก 3 ประการ คือ อาการเจ็บป่วย  เครื่องมือประมง  และหญ้าทะเลที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก  เมื่อน้ำลดลง ทำให้แดดเผาหญ้าทะเลจนตายเกลี้ยง  ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป  ปกติพฤติกรรมพะยูนจะไม่เข้าใกล้คน แต่ช่วงหลังกลับพบว่ามีพะยูนเข้ามาที่ท่าเรือบ่อยขึ้น  เพราะพะยูนต้องการความช่วยเหลือ  


ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยข้อมูล การบินสำรวจสัตว์หายากของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าพะยูนในเขตเกาะลิบง/เกาะมุก มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยระบุว่า สภาพเช่นนี้อาจสัมพันธ์กับวิกฤตหญ้าทะเลที่มีปริมาณลดลง แต่จำนวนพะยูนที่ตายมีน้อยกว่าจำนวนพะยูนที่หายไป หมายความว่าพะยูนบางส่วน น่าจะมีการอพยพเปลี่ยนแหล่งหากิน เพราะเมื่อไม่ค่อยมีหญ้าทะเลให้กิน พะยูนก็จะเคลื่อนย้ายไปที่อื่นซึ่งเป็นเรื่องปกติ  ซึ่งอาจย้ายถิ่นไปเรื่อย ๆ นับร้อยกิโลเมตรหรือมากกว่านั้น  


เกาะลิบงและเกาะมุก เป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดในไทย พะยูนจึงมารวมกันอยู่จำนวนมาก โดยข้อมูลจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า ปี 2566 มีการพบพะยูนมากกว่า 180 ตัว เป็นแม่ลูกถึง 12 คู่ แต่ปีนี้กลับพบน้อยลงมาก และไม่พบพะยูนแม่ลูกเลย  ส่วนหญ้าทะเลที่ลดลงก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะปลูกใหม่ก็ไม่น่ารอด  ถ้าอยากจะช่วยสัตว์เหล่านี้ ต้องช่วยกันลดโลกร้อน เพราะสาเหตุมาจากตรงนั้น  


ด้าน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า สำหรับเรื่องปัญหาวิกฤตของหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ 


พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้  เร่งแก้ไขแล้ว โดยที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ ร่วมมือกับทีมนักวิจัย ด้านสมุทรศาสตร์ระดับประเทศหลายท่าน เร่งลงพื้นศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล เบื้องต้นพบแนวโน้มสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลแห้งลงต่ำกว่าปกติ เป็นผลให้หญ้าทะเลต้องตากแห้งเป็นพื้นที่กว้างและนานกว่าปกติ หญ้าทะเลจึงเกิดความอ่อนแอซึ่งทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยอื่นได้แก่ การทับถมของตะกอนจากการขุดลอกปากแม่น้ำ โรคระบาดในหญ้าทะเล การถูกกินโดยสัตว์น้ำ หรือประเด็นเรื่องสารพิษ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไป


ปัจจุบันพบว่าหญ้าทะเลบางพื้นที่ เช่น เกาะลิบงมีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่าร้อยละ 50 และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอยตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด อีกทั้งการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ โดย หญ้าทะเลมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราสามารถช่วยกระบวนการฟื้นตัวได้ โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม โดยเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งหญ้าทะเลจังหวัดตรัง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคมนี้ เพื่อหาสาเหตุ ของการเสื่อมโทรมที่แท้จริง จะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุดและยั่งยืน


ภาพจาก:  ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดตรัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง