แก้เกม "ภาษีสหรัฐฯ" ได้หรือไม่ แค่ไทยเพิ่มการนำเข้า

ไทยกำลังจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา แก้เกมมาตรการ “ภาษีสหรัฐฯ” แต่ไทยเราจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าอะไร? ในมูลค่าเท่าไหร่? ถึงจะเพียงพอสำหรับลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้กับสหรัฐฯ ในการผ่อนปรนมาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ที่ไทยถูกเรียเก็บภาษีนำเข้าถึง 36%
และที่สำคัญเรามีเงินถุงเงินถังพอที่จะนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นแค่ไหน ถ้าไม่ได้มีเงินทองซื้อของเข้ามาเพิ่มมากมาย เราจะสามารถลดการนำเข้าสินค้าประเภทไหน จากประเทศใดแทนได้บ้าง เพื่อไม่เป็นสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ และฐานะทางการเงินของเราที่ก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
ภายหลังจากการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา ถ้าเปรียบว่าโลกใบนี้เป็นมหาวิทยาลัย “อาจารย์ทรัมป์” ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ได้ให้โจทย์สำหรับการทำรายงานเดี่ยวของนักศึกษาแต่ละคน ซึ่งก็หมายถึงแต่ละประเทศไปแล้วนั่นเอง
ในการแก้โจทย์ว่าแต่ละประเทศจะดำเนินการอย่างไรต่อมาตรการภาษีที่ประกาศไป ซึ่งต้องผ่านการทดสอบทั้งในเรื่องของเอกสาร หรือ Paper และแน่นอนคือการเจรจา หรือ Oral Test เพื่อให้อาจารย์ทรัมป์พอใจ ตัดเกรดให้คะแนน และพิจารณาถึงความหนักเบาของมาตรการที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิม หรือออกมาเพิ่มเติมหลังจากนี้ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าทำข้อสอบผ่าน อาจารย์พอใจ ข้อต่อไปก็จะง่ายลง
โดยนักเรียนรายแรก ๆ ที่ทำการบ้านเสร็จเร็ว แต่ตีโจทย์ไม่แตกก็คือ “เวียดนาม” ถึงแม้ว่าจะยอมลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯเหลือ 0 ก็ไม่ได้สร้างความพึงพอใจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่สหรัฐฯต้องการ ทำให้สหรัฐฯยังคงเดินหน้าเก็บภาษีเวียดนามต่อไปที่ 46% สอบตกอาจารย์ทรัมป์ในคาบแรก แบกเอกสารกลับบ้าน มาทำงานกันใหม่
ส่วนประเทศไทยเองก็ได้รับโจทย์มาด้วยตัวเลขที่โหดไม่น้อย 36% โดยนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แพรทองธาร ชินวัตร ได้จัดตั้งคณะทำงานโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ และประเมินเงื่อนไขในการเจรจาอย่างใกล้ชิด โดยมีเบอร์หนึ่งขุนคลังอย่าง คุณพิชัย ชุณหวชิร นั่งหัวโต๊ะคุมเกม
โดยในเบื้องต้นคุณพิชัยจะนำคณะผู้เจรจาเดินทางล่วงหน้าไปยังนครซีแอตเทิล สหรัฐฯ ในวันที่ 17 เม.ย.68 เพื่อพบปะกับนักธุรกิจในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านอื่น ๆ จากนั้นในวันที่ 20 เม.ย.68 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ จะตามไปสมทบกับคณะผู้เจรจาเป็นทีมไทยแลนด์แล้วเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเตรียมเข้าพบกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันที่ 21 เม.ย.68
แต่เมื่อย้อนดูถึงสาเหตุที่สหรัฐฯปรับขึ้นภาษีกับเรา คือเรา “เกินดุลการค้าสหรัฐฯ” สูงมาก ก็ต้อง “เกาให้ถูกที่คัน” ปัญหาอยู่ตรงไหน ก็แก้ไปตรงนั้น นั่นคือการลดการเกินดุลของเราต่อสหรัฐฯลง แต่ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์ถึงแนวทางในการเจรจา เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าสถานะการค้าระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร ปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าไปทั่วโลกรวม 300,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวม 306,809 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 6,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นั่นอาจจะตอบคำถามได้ว่า เราไม่สามารถเพิ่มการนำเข้าสินค้าตามใจสหรัฐได้มากนัก โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากๆ เพราะเราจะขาดดุลการค้าหนักกว่าเดิม อาจจะต้องใช้แนวทางในการเจรจาอย่างอื่นเพิ่มเติม แต่ถ้าถามว่าถ้าเราจะใช้การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพียงอย่างเดียวเพื่อให้เราไม่เกินดุลสหรัฐฯ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทำได้หรือไม่ คำตอบคือเราทำได้ แต่จะเพียงพอ หรือถูกใจโดนัลด์ ทรัมป์หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง และที่สำคัญจะไปกระทบกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ของเราอย่างไร ทีนี้เรามาดูกันว่าในปี 2567 เรานำเข้าสินค้าจากประเทศใด ในมูลค่าเท่าไหร่
1. อันดับที่ 1 จีน เรานำเข้าสินค้ามูลค่า 80,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2. อันดับที่ 2 ญี่ปุ่น เรานำเข้าสินค้ามูลค่า 28,734 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. อันดับที่ 3 ไต้หวัน เรานำเข้าสินค้ามูลค่า 20,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. อันดับที่ 4 สหรัฐอเมริกา เรานำเข้าสินค้ามูลค่า 19,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. อันดับที่ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรานำเข้าสินค้ามูลค่า 17,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เห็นตัวเลขนี้หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าก็ไม่เห็นยากเลย เราก็เปลี่ยนตลาดจากการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ไปนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็น่าจะสอบผ่านแล้ว ใช่เราสามารถทำได้ แต่เราจะเปลี่ยนการนำเข้าสินค้าอะไร และมูลค่าเท่าไหร่ เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย เราต้องมองลึกลงไปที่ประเภทสินค้า ซึ่งเราจะพบว่า มูลค่าสินค้าที่เรานำเข้าจากสหรัฐฯ จากมูลค่าสินค้าชนิดเดียวกันเมื่อเทียบการนำเข้ากับประเทศอื่นในปี 2567 จะประกอบไปด้วย
1. สินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูป 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบรวมกับประเทศอื่น 127,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2. สินค้าทุน เครื่องจักร เครื่องมือ 5,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบรวมกับประเทศอื่น 77,554 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. เชื้อเพลิง 5,179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบรวมกับประเทศอื่น 50,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. สินค้าอุปโภคบริโภค 1,419 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบรวมกับประเทศอื่น 35,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. ยานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่ง 956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบรวมกับประเทศอื่น 11,856 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6. อาวุธ ยุทธปัจจัย 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบรวมกับประเทศอื่น 4,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากตัวเลขนี้เราสามารถที่จะย้ายการนำเข้าจากประเทศอื่นมายังสหรัฐฯได้ในทุกกลุ่มสินค้า แต่ก็ทำไม่ได้ง่าย ๆ ขนาดนั้น เพราะสินค้าทุน, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป, สินค้าอุปโภค และบริโภค, ยานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่ง และอาวุธ ยุทธปัจจัย หรือ 5 จากทั้งหมด 6 รายการ เรานำเข้าจากจีนมากที่สุด และทำให้เราขาดดุลการค้าจีนมากที่สุดในโลกถึง 45,364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราจะไปเจรจากับจีนเพื่อขอลดการนำเข้าสินค้าทั้ง 5 กลุ่มนี้ เพื่อแบ่งไปนำเข้าจากสหรัฐฯอเมริกาแทน เราจะได้คำตอบอย่างไร เพราะจีนฉีกโจทย์นี้ทิ้ง และไม่ยอมเข้ากระบวนการเจรจากับสหรัฐฯมาตั้งแต่แรก หรือถ้าไม่ขอเจรจา แล้วเปลี่ยนตลาดไปเฉย ๆ ความสัมพันธ์ระหว่าเรากับจีนจะเป็นเช่นไร
เหลือเพียงทางเลือกเดียวที่สามารถทำได้เลยนั่นคือสินค้าเชื้อเพลิงที่เรานำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุด 15,639 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศออื่น ๆ อย่าง ซาอุดีอาระเบีย, มาเลเซีย, กาตาร์ และอินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่ารวมอีก 14,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะสามารถเปลี่ยนการนำเข้าไปยังสหรัฐได้ แต่ต่อให้เปลี่ยนการนำเข้ามาทั้งหมด ถ้าเราทำได้ ตัวเลขดุลการค้าก็ยังไม่ลดลงจนถึงจุดที่สหรัฐฯพอใจอย่างแน่นอน
แล้วถ้าเรานำเข้าสินค้าอื่น ๆ แทน ซึ่งไม่ต้องกระทบกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ สามารถบรรเทาผลกระทบในเรื่องนี้ได้แค่ไหน ยกตัวอย่างการนำเข้าธัญพืช ซึ่งเรานำเข้าหลัก ๆ จากเมียนมาร์ ยูเครน และออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่ารวม 1,091 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าทั้งหมด 1,871 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าเราจะเปลี่ยนการนำเข้าทั้งหมดมาจากสหรัฐฯก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าเกินดุลการค้า
เช่นเดียวกับการนำเข้าปลาทูน่าสด สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป ที่มีมูลค่าการนำเข้ารวม 4,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าที่เราเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
โจทย์นี้ยากจริง ๆ เพราะการย้ายตลาดนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ตามสัดส่วนมากน้อยกันไป เพื่อไปนำเข้าจากสหรัฐฯแทน ก็อาจจะแก้ปัญหาเกินดุลได้ แต่ผลกระทบด้านอื่น ๆ จากประเทศคู่ค้าก็จะตามมากดดันเราในภายหลัง
แต่การจะเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯอย่างเดียว เราก็อาจจะขาดดุลการค้าหนักขึ้นไปอีกจนทะลุ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งจะเป็นการขาดดุลการค้าที่มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวิติศาสตร์ชาติไทยเลยทีเดียว ซึ่งนั่นจะทำให้สถานะทางการคลังของเรามีปัญหา
ส่วนการเจรจาบนเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมคณะทำงานต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะสหรัฐเองก็มีความต้องการขยายอำนาจในหลายอุตสาหกรรมในไทยมาอย่างยาวนาน เช่น อุตสาหกรรมการเงิน โทรคมนาคม ซึ่งเราเองพยายามปิดกั้นมาโดยตลอด
และที่สำคัญสหรัฐฯเองมีวาระซ่อนเร้นอยู่เสมอกับประเทศในแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองความได้เปรียบ หรือสกัดกั้นการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนมายังภูมิภาคนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เราถูกบีบ และกลายเป็นเครื่องมือของสหรัฐฯในที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายที่มากกว่าตัวเลขภาษี 36% ก็เป็นได้