"กรดไหลย้อน" ภัยสุขภาพไม่ควรมองข้าม
อาการกรดไหลย้อนเป็นโรคทางเดินอาหารอีกหนึ่งชนิด เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปผ่านหลอดอาหารทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะข้างเคียง เช่น กล่องเสียง ช่องคอ เกิดจากการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารหย่อนตัวลง และมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานอาหารรสจัด ทำให้เกิดอาการ แสบร้อนกลางอก โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงานหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายของผู้ป่วยได้
โรคกรดไหลย้อน จะมีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ กลืนลำบากคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียน เสียงแหบ เจ็บคอ มีเสมหะในคอตลอดเวลา
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดกรดไหลย้อน มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานอาหารและนอนทันที การรับประทานอาหารรสจัดมากเกินไป
น้ำหนักที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ความเครียด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่มากเกินไป
วิธีการรักษาเบื้องต้นเมื่อเป็นกรดไหลย้อน ต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารให้อิ่มพอดี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด งดอาหารมันหรือทอด งดน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ชา หรือกาแฟ
ส่วนการรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน
สำหรับวิธีป้องกัน กรดไหลย้อน ไม่รับประทานอาหารมากหรืออิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ
หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มความเป็นกรด เช่น น้ำมะนาว ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ทั้งนี้ กรดไหลย้อนไม่ควรปล่อยไว้จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง อาจทำให้เกิดแผลรุนแรงจนกระทบต่อหลอดอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
หากผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าเป็น กรดไหลย้อนควรรีบเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะเรื้อรังที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย
ข้อมูล : ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กราฟิก : ทีมกราฟิก TNN16