วันป่าชายเลนโลก ไทยวางเป้าเพิ่ม 5 แสนไร่ ในปี 2574
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดงาน วันป่าชายเลนโลก ปี 67 เพื่อตอกย้ำความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาป่าชายเลนเสื่อมโทรม โดยยกระดับจับมือภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทำข้อตกลงร่วมกันในการมุ่งฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ด้วย เพราะป่าชายเลนมีความสำคัญต่อโลก สามารถสร้างความสมดุลของโลก ของระบบนิเวศและบำบัดสภาพอากาศที่เป็นพิษได้
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงความสำคัญของป่าชายเลน ว่า มีส่วนเชื่อมโยงของสังคมในทุกมิติ ทั้งเป็นที่ยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับคนในชุมชนชายฝั่ง และถึงแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีป่าชายเลนที่คงสภาพสมบูรณ์อยู่ 7 แสนไร่ และทุกปีมีการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ภาพรวมในปัจจุบันป่าชายเลนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย จากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของผู้คน
ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทยและสมาชิกให้พันธะสัญญาที่จะร่วมมือกันยกระดับการอนุรักษ์ป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งรวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน ครอบคลุม 3 มิติ คือ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และ มิติเศรษฐกิจ ทั้งนี้กรมฯ และภาคีเครือข่ายฯ มีเป้าหมายที่จะร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ 30 หรือ 5 แสน ไร่ ภายในปี 2574 และจะขยายการฟื้นฟูพื้นที่จนครบทุกแห่งภายใน ปี 2593
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ของป่าชายเลนทั่วประเทศ ว่าหลายแห่งเสื่อมโทรมไปมาก จึงต้องเร่งแก้ไขฟื้นฟู เพื่อกู้วิกฤตโลกเดือด พร้อมสร้างระบบนิเวศความหลากหลายทางชีวภาพตลอดชายฝั่ง และเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งปัจจุบันโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอกมีเนื้อที่ประมาณ 5 หมื่น 4 พันไร่ และโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน 94 ชุมชน เนื้อที่ 1 แสน 5 หมื่น 6 พันไร่ ขณะที่โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มี 10 โครงการ รวม 5,195 ไร่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้กว่า 27,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี