รีเซต

5 กิจวัตรประจำวันของเหล่านักบินอวกาศจากสถานีอวกาศ

5 กิจวัตรประจำวันของเหล่านักบินอวกาศจากสถานีอวกาศ
TNN ช่อง16
18 เมษายน 2566 ( 02:13 )
83
5 กิจวัตรประจำวันของเหล่านักบินอวกาศจากสถานีอวกาศ

เป็นเรื่องธรรมดาที่บนสถานีอวกาศ เช่น สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จะต้องตกอยู่ในสภาวะ ไมโครกราวิตี (Microgravity) หรือสภาวะที่แรงโน้มถ่วงเกือบเป็นศูนย์ ซึ่งแตกต่างกับแรงโน้มถ่วงบนพื้นโลกที่ประมาณ 9.8 เมตรต่อวินาที ส่งผลให้กิจวัตรประจำวันหลายอย่างของนักบินอวกาศเปลี่ยนไป


อาหารอวกาศ (Space Food) 

ปัจจุบันสเปซ ฟู้ด (Space Food) หรืออาหารอวกาศมีรสชาติและรสสัมผัสคล้ายกับที่เรารับประทานบนพื้นโลก โดยมันมีความแตกต่างจากอาหารอวกาศยุคก่อนที่ไม่เน้นหน้าตา, รสชาติและรสสัมผัสแต่จะเน้นไปที่คุณค่าทางโภชนาการเท่านั้นเพื่อให้นักบินอวกาศได้รับสารอาหารที่เพียงพอ อาหารบางชนิดเช่นเนื้อวัวและผักจึงถูกปั่นรวมกันแล้วบรรจุไว้ในหลอดบีบคล้ายยาสีฟัน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาหารอวกาศได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยทุกเมนูจะถูกคำนวณปริมาณสารอาหารมาให้อย่างดีแต่จะเน้นไปที่รสชาติและรสสัมผัสมากขึ้น ในบ้างครั้งนักบินอวกาศยังสามารถประกอบมื้ออาหารง่าย ๆ บนอวกาศได้ด้วย เช่น การทำเบอร์ริโตและการทำพิซซ่า


โดยอาหารที่จะถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศจะถูกนำไปเข้ากระบวนการดีไฮเดรชัน (Dehydration) หรือกระบวนการดูดความชื้น จากนั้นใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดและทำการดูดอากาศออก เพื่อยืดอายุของอาหารและช่วยให้มีน้ำหนักเบา เนื่องจากข้อจำกัดด้านน้ำหนักบรรทุกของยานอวกาศและจรวดแต่ละลำ


เมื่ออาหารถูกส่งไปถึงมือนักบินอวกาศ พวกเขาจะทำการรีไฮเดรชัน (Rehydration) หรือการเติมน้ำกลับไปให้กับอาหาร นอกจากนี้ บนสถานีอวกาศยังมีเตาอบให้สามารถนำอาหารเข้าไปอุ่นได้ด้วย


การนอนหลับบนอวกาศ 

นักบินอวกาศจะนอนหลับในสลีป สเตชัน (Sleep Station) หรือห้องนอนขนาดเล็กที่มีหน้าตาคล้ายกับกล่อง 4 เหลี่ยม ทรงยาวแนวตั้ง ด้านในจะมีถุงนอนผูกติดอยู่กับห่วงบนผนังเพื่อป้องกันไม่ให้นักบินอวกาศลอยไปลอยมาขณะนอนหลับ นอกจากนี้ สลีป สเตชันจะต้องเป็นห้องที่มิดชิดมากพอที่จะไม่ถูกรบกวนจากแสงของดวงอาทิตย์ เพราะเมื่ออยู่บนสถานีอวกาศจะต้องเจอกับดวงอาทิตย์ขึ้นและตกวันละ 15 - 16 ครั้ง

โดยนักบินอวกาศจะต้องนอนหลับตามตารางเวลาที่ถูกกำหนดมาให้ ซึ่งหากนักบนอวกาศคนไหนเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับจากความเครียด ไม่ว่าจะจากการทำงานหรือการปรับตัวเข้ากับชีวิตประจำวัน ก็สามารถใช้การสื่อสารทางไกลเพื่อพบจิตแพทย์ได้ 


การอาบน้ำและการเข้าห้องน้ำในอวกาศ 

สำหรับการอาบน้ำ นักบินอวกาศจะใช้น้ำที่ผสมกับสบู่ชนิดพิเศษแบบไม่ต้องล้างออกหยดลงไปบนผ้า หลังจากนั้นก็ใช้ผ้าเช็ดไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 


ส่วนห้องน้ำบนสถานีอวกาศ ชักโครกจะเป็นแบบสูญญากาศ ซึ่งทำหน้าที่ดูดของเสียจากนักบินอวกาศไปเก็บไว้ในถุง แล้วนำไปจัดการต่อบนพื้นโลก นอกจากนี้ยังมีท่อลมที่จะช่วยดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกไป เพื่อให้กลิ่นไม่รบกวนการใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศ 

นักบินอวกาศหญิงจัดการกับประจำเดือนอย่างไร 

แม้ของเหลวในสภาวะไมโครกราวิตี้มักจะลอยขึ้นเคว้งคว้างไปมา แต่กล้ามเนื้อมดลูกของเพศหญิงจะทำการบีบตัวเพื่อขับเลือดให้ไหลออกมาตามปกติและไม่ไหลย้อนขึ้นไปในมดลูก ดังนั้นกระบวนการต่าง ๆ ก็ยังเกิดขึ้นตามปกติ

โดยนักบินอวกาศหญิงอาจจะมีการจัดการกับการมีประจำเดือนที่ต่างกันออกไป แต่วิธีที่พบได้บ่อยก็คือ การรับประทานยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนสำหรับป้องกันการสลายตัวของผนังมดลูก ไปจนถึงการฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา 


วิธีทั้งหมดนี้ช่วยให้นักบินอวกาศหญิงไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ห้องน้ำและยังประหยัดน้ำหนักสัมภาระจากการไม่ต้องพกผ้าอนามัยไปสถานีอวกาศด้วย


การออกกำลังกายบนอวกาศ 

นักบินอวกาศจะถูกจัดตารางให้ออกกำลังกายวันละประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้เครื่องออกกำลังกายที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่น ลู่วิ่งที่ติดตั้งสายรัดติดไว้กับตัวเครื่องและเครื่องเออร์โกมิเตอร์ (Ergometer) ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับจักรยานไม่มีล้อ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ร่างกายฝึกใช้แรงคล้ายกับที่เคยใช้เมื่ออยู่บนพื้นโลก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่การใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศนาน ๆ สภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วงจะส่งผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่ากระดูกจะสูญเสียความหนาแน่น อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ อ่อนแรงลง ดังนั้น เมื่อยานอวกาศมาถึงพื้นโลก นักบินอวกาศบางคนจะประสบกับปัญหาเดินหรือยืนไม่ได้ 


โดยนักบินอวกาศทุกคนที่เดินทางกลับมาถึงโลกจะถูกพาไปที่ศูนย์ฟื้นฟูสำหรับตรวจสอบสภาพแรงกายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายของพวกเขาปกติดีและเพื่อทำการศึกษาผลกระทบของการอยู่ในอวกาศเพิ่มเติมจากเดิมด้วย


ข้อมูลและภาพจาก NASA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง