จับตากนง.ลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งภายในสิ้นปี 68

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. ) วันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ตามคาด และมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3-2.0 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจุดจับตาอยู่ที่การประชุมรอบเดือนส.ค. หลังจากการชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค.
ซึ่งกนง. คงต้องประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ จะประกาศเรียกเก็บกับสินค้าไทยรวมถึงประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอื่นๆ ภายใต้การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยกนง. คงพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีจำกัด
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC มองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับร้อยละ 1.25 ภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะต่ำกว่าช่วงปี 2561-2562 ที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งในขณะนั้นไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมเท่านั้น ขณะที่นโยบายการเงินมีลักษณะผ่อนคลาย
โดยค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น แตกต่างกับในปัจจุบันที่สงครามการค้ารุนแรงขึ้นมาก และไทยได้รับผลกระทบทางตรงที่รุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบัน (ซึ่งคิดรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้แล้ว) อยู่ที่ร้อยละ 0.7 การรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้ที่รุนแรงขึ้นมาก จึงอาจต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงกว่าอดีต
นอกจากนี้นโยบายการเงินอาจต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะข้างหน้า หลัง Moody’s ปรับลด Outlook ของไทย เป็น “Negative” จาก “Stable” แต่ยังคงอันดับเรตติงที่ Baa1 สะท้อนว่า การปรับ Outlook ในครั้งนี้อาจจำกัดบทบาทของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และทำให้นโยบายการเงินต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น