“รัฐประหาร 16 พฤษภา” เมื่อพลโท “พัค ช็อง ฮี” เปลี่ยนแปลงเกาหลีใต้ไปตลอดกาล
เกาหลีใต้ในปัจจุบัน หลายท่านอาจจะเห็นว่า เป็นประเทศที่พัฒนารุดหน้าในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจที่พัฒนาจนเป็นระดับแถวหน้าของโลก การเมืองที่เป็นมหาอำนาจกลาง คุณภาพทางการศึกษาของประชากรที่เข้มข้น รวมไปถึงมีแพล็ตฟอร์มมหาศาล ทั้ง K-pop K-drama หรือ K-culture
ส่วนใหญ่แล้ว มักให้เหตุผลกันว่า ที่ประเทศมาได้ถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตยถึงขีดสุด พลังประชาชน การมีความรับผิดรับชอบ การทำงานหนัก หรือความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
แต่หากตรวจสอบดูข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ จะพบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญจริง ๆ อยู่ที่ “การรัฐประหาร 16 พฤษภา” ของพลโท “พัค ช็อง ฮี” ที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล จนได้รับการขนานนามว่า “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน” ก็ว่าได้
เรื่องนี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้
รุ่นเล็กปะทะรุ่นใหญ่
บริบทของเกาหลีใต้ก่อนการรัฐประหาร เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากการประท้วงของนักศึกษา ที่ไม่พอใจการบริหารงานของ “ซึงมัน รี” ประธานาธิบดี ณ ตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคอรัปชันอย่างเปิดเผยของนักการเมือง การปล่อยให้ทุนอเมริกันเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่ง การปราบปรามทางการเมืองอย่างรุนแรง
แต่ที่ทำให้ผู้คนทนไม่ได้ นั่นคือ การที่รี “โกงการเลือกตั้ง” โดยการยัดไส้บัตรเลือกตั้ง บัตรเขย่ง หรือดับไฟคูหา ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งมหาศาล ที่เรียกว่า “การประท้วง 19 เมษา” ล้มรัฐบาลรีได้สำเร็จ
แต่การบอกว่าเหตุผลมาจากพลังประชาชนอย่างเดียว ก็มีความน่าสงสัย เพราะ “กองทัพ” ที่เป็นผู้สนับสนุนรีนั้น ไม่ยอมออกมาปกป้องรีแต่อย่างใด ทั้งที่จริง หากนำรถถังหรืออาวุธสงครามออกมาปราบปรามการชุมนุม ประชาชนตาดำ ๆ ก็ไม่มีทางต่อกรได้
นั่นเพราะ กองทัพเอง ก็มีปัญหาอยู่ภายในเช่นกัน ขณะนั้น “มุ้งในกองทัพ” ของเกาหลีใต้ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย นั่นคือ
ทหาร “รุ่นใหญ่” เป็นทหารระดับชั้นพลเอกหรือจอมพล ที่จบการศึกษานายร้อยจาก Japanese Imperial Army หรือ Japanese Manchurian Forces “รุ่นแรกหรือรุ่นที่ 2” ก่อนปี 1949 กลุ่มจะอยู่ฝ่ายซึง มันรี และเป็นผู้ที่คอยปราบปรามการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อรักษาบัลลังค์ของรีไว้
กลุ่มหลัง คือทหาร “รุ่นเล็ก” เป็นทหารระดับพันเอกไปจนถึงพลโท ซึ่งจบการศึกษานายร้อยจาก Japanese Imperial Army หรือ Japanese Manchurian Forces “รุ่นที่ 8 (Eight Class)” ในปี 1949 พวกนี้จะมีความ “หัวก้าวหน้า” และเห็นว่ากองทัพต้องทำปฏิรูป เพราะบรรดารุ่นพี่กุมอำนาจไว้มากและนานเกินไป ทำให้พวกตนไม่ได้เติบโตในหน้าที่การงาน
รุ่นที่ 8 นี้ มีแกนนำคือ “คิม จง พิล” ซึ่งเป็นนายทหารชั้นพันโทเท่านั้น แต่ด้วยบารมีและการบริหาร ทำให้เขาได้รับการยอมรับอย่างมากว่าเป็น “ผู้รักบ้านรักเมืองและรักความเสมอภาค” อย่างแท้จริง
รุ่นที่ 8 วางแผนการปฏิรูปกองทัพอย่างลับ ๆ ในชื่อว่า “Clean-up Military” หรือก็คือ แผนการเพื่อ “ปฏิวัติ” และจริง ๆ จะทำการตั้งแต่ช่วงที่รีโกงการเลือกตั้งแล้ว แต่บรรดานักศึกษา แอคติวิสต์ และแรงงาน ชิงตัดหน้าประท้วงเดือนเมษายนเสียก่อน
พวกรุ่นที่ 8 จึงสงบเสงี่ยมท่าทีไว้ เพราะหากไปหนุนหลังนักศึกษา ก็จะทำให้แผนการรั่วไหลได้ง่าย และจะซวยกันยกแผง
แต่แล้ว วันแห่งเสียงปืนแตกของรุ่นที่ 8 ก็ต้องมาถึงจนได้ ด้วยชายที่ชื่อ “พลโทพัค ช็อง ฮี”
ผมทำเพื่อชาติบ้านเมือง
จริงอยู่ที่ คิม จง พิล มีความเป็นผู้นำ และรวมน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรุ่นที่ 8 หากแต่เขานั้น “ขาดต้นทุนทางตำแหน่ง” เพราะเขาเป็นเพียงยศพันโท
ดังนั้น เขาจึงได้เดินเกมตัวละครลับ นามว่า พลโทพัค ช็อง ฮี “แม่ทัพภาคที่ 1 แห่งกวังจู” ให้เข้ามาร่วมวงในแผนการนี้ ซึ่งจริง ๆ การเป็นแม่ทัพภาค ถือเป็นตำแหน่งใกล้ปลดระวางยศพลโท เพราะเป็นที่ห่างไกลศูนย์กลางอย่างมาก
แต่พลโทพัคถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ 8 ที่ยศใหญ่ที่สุด จึงมีต้นทุนทางตำแหน่งในการสั่งการ ดังนั้น เมื่อสมประสงค์กันระหว่างพันโทคิมและพลโทพัค หัวหอกใหม่จึงกลายเป็นพลโทพัคในการดำเนินการตามแผนการทันที
พลโทพัคได้ทำการย้ายมาเป็นรองเสนาธิการสูงสุด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าเตรียมเสียบแทนตำแหน่งของพวกรุ่นพี่หัวโบราณในอนาคตอันใกล้ และเป็นการส่งสัญญาณว่า พลโทพัคจะขึ้นมาบัญชาการส่วนกลางด้วยตนเองแบบจริงจัง
เรื่องนี้ ถึงขนาดที่ทำให้ พลเอกชเว ยง ฮี เสนาธิการสูงสุด และ พลเอกชเว คย็อง หนก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้รวมหัวกันทำการลดบทบาทของพลโทพัคลง โดยการออกนโยบายลดอำนาจกองทัพ ด้วยเหตุผลว่า “ต้องการกำจัดความรุนแรงต่ออำนาจอธิไตยเกาหลีใต้ … ที่คุกคามกิจการภายในประเทศ”
แต่พันโทคิมรู้ทัน จึงได้รวบรวมกองกำลัง ทั้งรุ่นที่ 8 และนายทหารในคาถาอื่น ๆ ขนรถถังและสรรพอาวุธออกมาทำการบีบให้นายทหารรุ่นใหญ่ออกจากตำแหน่ง ซึ่งเรียกการกระทำนี้ว่า “การสอยรุ่นพี่ (하국 상사군)”
แต่แล้ว ก็ได้มีการสวนโดยรุ่นพี่ จากการที่บีบให้พลโทพัคเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่แล้ว อี ช็อล ซอง หัวหน้าคณะกรรมาธิการฝ่ายทหารในสมัชชาแห่งชาติ ได้อ้อนวอนให้ ชาง มย็อน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ย้ายพลโทพัคไปช่วยราชการกองทัพภาคที่ 2 แทกูแทน
แต่นั่นคือการยื่นดาบให้ เพราะที่แทกู พลโทพัคได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่มีหัวปฏิรูปเช่นเดียวกันได้กว่า 4,000 นาย และเมื่อทุกอย่างพร้อม เขาก็ได้เคลื่อนกองกำลังเข้ากรุงโซล เพื่อทำการรัฐประหาร ชาง มย็อน ผู้ที่เคยทำแสบกับเขาไว้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1961
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทันก่อนที่เขาจะเกษียณอายุราชการ ไม่เช่นนั้น แผนการที่อุตส่าห์วางแผนมาไว้ก็จะเสียเปล่าตามไปด้วย
โดยต่อหน้าสาธารณชน พลโทพัคให้เหตุผลว่า “ผมทำเพื่อชาติบ้านเมือง ผมมาปราบปรามพวกนักการเมืองที่ทุจริตฉ้อฉล บริหารประเทศไปในทางเสื่อม ไร้ประสิทธิภาพ และเล่นพรรคเล่นพวกแบบไร้ยางอาย”
นับเป็นครั้งแรก ที่เกาหลีใต้ได้สัมผัสกับการปกครองแบบ “อำนาจนิยมรัฐบาลทหาร” แต่หลังจากนั้นอีก 18 ปี ใครจะไปคิดว่า พัค ช็อง ฮี จะสามารถขับเคลื่อนประเทศให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่รุดหน้า เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักและเคมี จีดีพีเติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างสังคมที่มีรายได้ต่อหัวแทบจะมากที่สุดในเอเชีย และที่สำคัญ ได้พัฒนาทุนเกาหลีขนาดใหญ่ หรือแชบอล ให้ทัดเทียมกับบริษัทของโลกตะวันตกได้อย่างไม่เคอะเขิน
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ The Park Chung Hee Era: The Transformation of South Korea
หนังสือ Korea's Development Under Park Chung Hee
หนังสือ Park Chung Hee and Modern Korea: The Roots of Militarism, 1866–1945
บทความ Historiography of ‘Park Chung Hee Era’: Reassessing the Republic of Korea under Park Chung Hee regime in English language perspectives