รีเซต

CDC ยืนยัน วัคซีนในปัจจุบันยังป้องกันไวรัสสายพันธุ์ "เดลต้า" ได้

CDC ยืนยัน วัคซีนในปัจจุบันยังป้องกันไวรัสสายพันธุ์ "เดลต้า" ได้
TNN ช่อง16
16 กันยายน 2564 ( 00:35 )
48
CDC ยืนยัน วัคซีนในปัจจุบันยังป้องกันไวรัสสายพันธุ์ "เดลต้า" ได้

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการระบาดส่วนใหญ่ยังเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาในภายหลัง ทำให้ประชาชนต่างเกิดความกังวลใจว่าวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้ อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการต่อต้านกับไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว




ปัจจุบันไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาดไปทั่วสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นสายพันธุ์หลักในภูมิภาคเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้ป่วยกว่า 99% ในประเทศล้วนแล้วแต่เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า


สถาบันป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา จึงได้ทำการสำรวจผู้ติดเชื้อกว่า 6 แสนราย ในพื้นที่ 13 มลรัฐ ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าลดลงเพียงเล็กน้อย ดังนี้


- ความสามารถในการป้องกันอาการรุนแรงในระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล ลดลงจาก 92% เป็น 90%

- ความสามารถในการลดอัตราการเสียชีวิต ลดลงจาก 94% เป็น 91%

- ความสามารถในการกำจัดเชื้อในผู้ป่วยทั่วไปที่มีอาการ ลดลงจาก 91% เป็น 78%



รายงานดังกล่าวยังเพิ่มเติมอีกว่า ถึงแม้อัตราการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งหมายความว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพเพียงพอในการลดความรุนแรงของโรค COVID-19 ที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลต้านั่นเอง


ในขณะเดียวกัน CDC ยังมีการสำรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วย 32.867 ราย พบว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาฉุกเฉิน เพิ่มขึ้น 5-7 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้


ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกามีวัคซีนชนิด mRNA อยู่ด้วยกันจาก 2 บริษัท คือ Pfizer และ Moderna จากการศึกษาพบว่าวัคซีนของ Moderna มีประสิทธิภาพที่ช่วยลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 95% ในขณะที่ Pfizer มีประสิทธิภาพเพียง 80% เท่านั้น ส่วนวัคซีนของ Johnson & Johnson ที่ใช้เทคโนโลยี Adenoviral vector มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 60% ถึงกระนั้น ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนเหล่านี้ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูง และแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนให้ครบ


ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าวัคซีนในปัจจุบัน ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอในการลดความรุนแรงของ COVID-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักวิทยาศาสตร์คงมีแผนพัฒนาวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าให้ดียิ่งขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง