"โรคไม่อยากยืนหนึ่ง" ภัยของผู้มีความสามารถแต่ไม่โชว์ นำไปสู่ภาวะหมดไฟหรือถูกจ้างออก | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
“30 ลิขิตฟ้า 70 ต้องฝ่าฟัน ต้องสู้ ต้องสู้ถึงจะชนะ” - เจินเจิน บุญสูงเนิน
การจะเป็นใหญ่เป็นโตในทุกวงการของโลกใบนี้ นอกเหนือจากการต่อสู้แย่งชิง และ อดทนฟันฝ่าอปุสรรคที่เข้ามาในชีวิตแล้ว “ความสามารถ” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นหนึ่งในใต้หล้าได้
แต่ก็มีแรงงานจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่มีความสามารถระดับเทพเจ้า แตกฉานในทุกสรรพวิชาและกระบวนการทำงานให้ทรงประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่กลับปกปิดความสามารถ เพราะรู้สึกเหนียมอายที่จะโชว์ความสามารถนั้น ๆให้เป็นที่ประจักษ์ และพยายามทำตนให้อยู่ในมุมมีดในที่ทำงาน หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงสาดส่องมาที่ตนเอง
หลายคนอาจจะคิดว่าพวกเขา “ใจไม่แข็งแกร่ง” หรือ “วางตัวไม่ถูก” แต่ความจริง อาจจะกำลังประสบกับภาวะ “Jonah Complex” หรือ “ความกลัวที่จะเป็นหนึ่ง” ก็เป็นได้
ที่หนึ่งไม่ไหว
Jonah Complex ปรากฏครั้งแรกในหนังสือของ อับแบห์รม มาสโลว์ ที่อธิบายว่า ชื่อนี้ได้มาจากตำนานไบเบิลว่าด้วยโยนาห์ ที่พยายามหลีกหนีโชคชะตาในการเป็นผู้ทำนายการล่มสลายของนินิเวห์ (เมืองในเมโสโปเตเมีย) เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บ่อยครั้งเราก็พยายามหลีกหนีจากสิ่งที่ชะตาฟ้าลิขิต ทั้งที่จริง ๆ เปล่าประโยชน์อย่างมาก เพราะถึงอย่างไรฟ้าก็ลิขิตมาให้เราเป็นเช่นนั้น
หรือก็คือ บ่อยครั้งเรามักปฏิเสธที่จะเป็นหัวหน้าหรือเป็นเจ้านาย เพียงเพราะรู้สึกว่าจะโดดเด่นจนเกินไป เราเก่งขนาดนั้นเลยหรือ ไม่น่าเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งเราเทียบเปรียบมวยกับผู้อื่นแล้ว เราเหนือกว่ามาก แต่ก็ยังขาดความมั่นใจว่าเราจะเป็นเจ้าคนนายคนได้อย่างราบรื่น
อาการของ Jonah Complex หลัก ๆ ก็จะมี ความกลัวที่จะแสดงความสามารถว่าตนเองนั้นเหนือกว่าผู้อื่น กลัวการแสดงความมั่นใจในตนเอง กลัวที่จะแสดงวิถีชีวิตสุดน่าทึ่งที่ผู้คนธรรมดาไม่สามาราถปฏิบัติได้ หรือกลัวที่จะโชว์วิสัยทัศน์ในการนำพาลูกน้องให้ประสบความสำเร็จได้แบบ 100%
อย่างไรเสีย Jonah Complex นี้ มีความแตกต่างจาก Tall Poppy Syndrome และ Imposter Syndrome อยู่พอสมควร คือ Tall Poppy Syndrome ไม่ต้องการที่จะเติบโตเลย แต่ Jonah Complex คือเติบโตได้ แต่จะ “ไม่เร่งเติบโต” เน้นเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ให้ขึ้นตำแหน่งก็ขึ้น ไม่ให้ขึ้นก็ไม่เป็นไร ทำตัวให้โดดเด่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เกาะกลุ่มอยู่ตรงกลาง ๆ พอให้เอาตัวรอดจาก KPI ไปวัน ๆ ก็เพียงพอ ทั้งที่จริงแล้ว ตนเองนั้นมีศักยภาพมากมายถึงขนาดที่จะเป็นหนึ่งได้ไม่ยาก
และความแตกต่างจาก Imposter Syndrome คือ Imposter Syndrome ไม่ได้มีปัญหากับการโชว์ออฟ แต่ไม่มั่นใจว่าที่โชว์ออฟไปนั้นดีพอหรือไม่ ส่วน Jonah Complex คือไม่โชว์ออฟเลย ทั้งที่จริง ๆ มีดีอยู่ในตนระดับมหาศาล
อาการที่เกิดขึ้นนี้ มีคำถามที่ตามมาคือ ส่งผลอย่างไรต่อ ปัญหาสุขภาพจิต ?
Burnout Society
ในหนังสือ ของ บย็อง ช็อล ฮัน ได้เสนอว่า สังคมการทำงานในปัจจุบันนี้ บีบให้แรงงานเป็น “Achievement-Subject” คือต้องเฆี่ยนตีตนเองให้ทำได้ทุกอย่าง และต้องเป็นเลิศในทุกอย่าง แบบที่เจ้านายไม่จำเป็นต้องบีบบังคับให้กระทำแบบสมัยก่อน
หมายความว่า Jonah Complex นั้น เข้ากันไม่ได้กับสังคมการทำงานแบบข้างต้น ที่จะมามัวไม่มั่นใจ เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ไม่ยินดียินร้ายที่จะอยู่บนจุดสูงสุดของสายงาน เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้ที่เผชิญกับ Jonah Complex ก็จะยิ่ง “Burnout” ได้ง่ายกว่าแรงงานทั่วไปอย่างมาก เพราะการ “เป็นคนมีของ” แต่กลับเหนียมอายไม่ยอมปล่อยของ ก็เปรียบเหมือนกับผู้ที่ “ไร้สมรรถภาพ” ในการทำงาน
ประกอบกับเทรนด์ในปัจจุบัน ที่การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็น “The Great Recession” หรือ “การเลิกจ้างครั้งยิ่งใหญ่” ในวงการธุรกิจ ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงเสมือนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่มีใครการันตีได้ว่าจะถูกเลิกจ้างวันใด ดังนั้น สิ่งสำคัญลำดับแรกจึงเป็นเรื่องของความอยู่รอด และการจะอยู่รอดได้ก็ต้องโชว์ออฟ แบบนี้ ก็ยิ่งกระทบกับ Jonah Complex อย่างมาก
บำบัดความคิดเสีย
เมื่อมาถึงตรงนี้ คำถามคือ มีวิธีแก้ไขปัญหาหรือไม่ ? งานศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้อาจจะเป็นความกลัวในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกลัวการเติบโต เพียงแต่วิธีคิดของผู้ป่วยคือ การเติบโตที่ได้มานั้น “เหมาะสม” กับความสามารถของตนหรือไม่
งานศึกษานี้มีวิธีแก้ไขปัญหาสำหรับ Jonah Complex อยู่ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
ประการแรก ต้องลดและปรับทัศนคติต่อ “ความน่าหลงใหลของการย่ำอยู่กับที่ (Attraction of Safety)” และ “ภยันตรายของการเติบโต (Danger of Growth)” เพราะสองสิ่งนี้คือเงื่อนไขกหลักในการเกิด Jonah Comnplex โดยต้องคิดว่า สองสิ่งนี้ไม่มีผลใด ๆ ต่อชีวิตการทำงาน การย่ำอยู่กับที่คือความล้มเหลว ส่วนการเติบโตคือโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัย “ระยะเวลา” ในการสร้างความคุ้นเคยกับงานในระดับหัวหน้าประมาณหนึ่งก่อน เพื่ออาศัยการ “ประเมินผลได้ผลเสีย” ที่จะลดและปรับสองสิ่งดังกล่าว
ประการต่อมาคือ เลิกวิธีคิดที่ว่า “รอไปก่อนจนกว่าจะ … (Wait Until)” ไม่อย่างนั้นความพร้อมที่จะเป็นหนึ่งก็จะไม่เกิดขึ้นเสียทีในชีวิต ในโลกของการทำงานที่มีการแข่งขันตลอดเวลา หากมัวมาคิดเช่นนี้ ก็เท่ากับว่ายอมรับความอ่อนแอภายในจิตใจของตนเอง รอวันเป็นตอไม้ที่ตายแล้วให้เด็กรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแซงหน้า สมดังที่งานศึกษานี้เสนอว่า
“เมื่อคุณรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะกล้าเผชิญความเสี่ยงทุกรูปแบบ เวลานั้นก็สายไปเสียแล้ว”
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ The Burnout Society
บทความ The Farther Reaches of Human Nature
บทความ Jonah Complex: The fear of growth