รีเซต

เมื่อความถูกต้องไม่ถูกใจ เข้าข่าย "Cognitive Dissonance" ปล่อยไว้ทำร้ายตัวเอง

เมื่อความถูกต้องไม่ถูกใจ  เข้าข่าย "Cognitive Dissonance" ปล่อยไว้ทำร้ายตัวเอง
TNN ช่อง16
26 กรกฎาคม 2568 ( 13:06 )
25

สมองของมนุษย์ เป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความซับซ้อนมากที่สุดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความหลากหลายในการแสดงออกทางความคิดและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล แต่ถึงแม้มุมจะต่างกัน แต่ค่านิยมหรือคุณค่าบางอย่าง ที่กฎสังคมตกลงร่วมกันยังคงต้องรักษาไว้ ซึ่งเมื่อทั้ง 2 อย่างนี่มีความขัดแย้งกัน อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ คับข้องใจ จนนำไปสู่การเกิดภาวะทางจิตเวช ที่ชื่อว่า Cognitive Dissonanc ปล่อยไว้ นอกจากอันตรายกับสุขภาพจิตตัวเอง ยังทำร้ายคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัวด้วย

Cognitive Dissonance คืออะไร?

Cognitive Dissonance เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่คิดค้นโดย Leon Festinger อธิบายว่า ภาวะทางอารมณ์และความรู้สึก เมื่อบุคคลเผชิญกับความขัดแย้งทางความคิด กับค่านิยมบางอย่างของแนวคิดทางสังคม กฎเกณฑ์บางอย่าง หรือข้อตกลงในองค์กรหรือสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจและพยายามลดความขัดแย้งนั้นๆ

การลดความขัดแย้งนี้อาจทำได้หลายวิธี เช่น การเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ การหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อเดิม การปฏิเสธข้อมูลใหม่ หรือ การลดความสำคัญของประเด็นที่ขัดแย้ง แต่กระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่สบายใจ อึดอัดใจอย่างรุนแรง หากไม่สามารถหาทางออก ยิ่งนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า

ตัวอย่างง่ายๆ ของความขัดแย้ง เช่น หากคนๆ หนึ่งเชื่อว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่เขากลับไม่ค่อยออกกำลังกาย เขาอาจจะรู้สึกขัดแย้งทางความคิด อาจจะหาเหตุผลมาสนับสนุนการไม่ออกกำลังกายของเขา เช่น "ฉันไม่มีเวลา" หรือ "ฉันเหนื่อย" หรืออาจจะลดความสำคัญของการออกกำลังกายลง หรืออาจจะพยายามหาข้อมูลที่สนับสนุนว่าการออกกำลังกายนั้นไม่ได้ดีต่อสุขภาพขนาดนั้นก็ได้

จะเห็นว่า Cognitive Dissonance ทำให้ความเชื่อ กับการกระทำไม่เป็นไปในทางเดียวกัน


เมื่อความถูกต้อง ไม่ตรงกับสิ่งที่ถูกใจ

สภาวะของจิตใจใต้ Cognitive Dissonance นอกจากจะส่งผลทางสุขภาพให้กับคนๆ นั้นแล้ว การไม่ลงรอยกัน ทำให้คนมีพฤติกรรม Toxic อย่างไม่รู้ตัว เพราะจิตใจต้องการหาการระบาย หรือแสดงออกบางอย่าง เพื่อจัดการกับความอึดอัดใจที่เกิดขึ้น 

กล่าวโทษผู้อื่น

การเลือกกล่าวโทษคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน ที่ทำให้เราต้องรู้สึกไม่สบายใจและท้อแท้ มากกว่าที่จะรับผิดชอบและแก้ไขอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ขัดกับความเชื่อของเราเอง เพื่อให้ตัวเองเกิดความสบายใจ

ซุบซิบนินทา

การซุบซิบนินทา กล่าวว่าร้าย และแพร่ข่าวลือที่เกี่ยวกับผู้อื่น อาจเป็นทางเลือกที่คนที่เผชิญกับภาวะ Cognitive Dissonance ใช้เพื่อลดความรู้สึกตึงเครียดของตนเอง

หลีกเลี่ยง

การเลือกที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในใจ เป็นอีกทางหนึ่งที่ คนมีภาวะ Cognitive Dissonance จะเลือกใช้ แทนที่จะเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

เกรี้ยวกราด

การสาดอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดใส่คนรอบข้างก็อาจจะเป็นอีกวิธีที่เลือกใช้ เพื่อลดความรู้สึกอึดอัดใจที่เราต้องเจอ

หาเหตุผล หรือกลุ่มคนมาสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง

หาเหตุผลมาสนับสนุน หรือหาพวกให้กับตัวเอง หรือการเล่นพรรค์เล่นพวก ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “confirmation bias” ก็คือเลือกเฉพาะเหตุผลหรือคนที่มาช่วยคอนเฟิร์มให้รู้สึกสบายใจว่าตัวเองทำถูกแล้ว 

Cognitive Dissonance ทำให้เกิดภาวะ Burn Out ในที่ทำงาน

Cognitive Dissonance หากเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของแต่ละฝ่าย หากไม่สามารถพูดคุยเพื่อแก้ไข อาจนำไปสู่การแตกหัก เพราะแต่ละฝ่ายก็ต้องยืนยันต่อความเชื่อของตัวเอง แต่ความ Toxic เหล่านี้ หากเกินขึ้นในองค์กร หรือสภาพแวดล้อมการทำงาน สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิต เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะหมดไฟ หรือ Burn out ได้ 

ป้องกันสภาพจิตใจจากผลกระทบของ Cognitive Dissonance

อย่างที่บอกว่า Cognitive Dissonance เกิดขึ้นได้ในหลากหลายสถานการณ์ มี 3 วิธี ที่เราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดผลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

  1. เปลี่ยนแปลงความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรม ที่มีอยู่
  2. เพิ่มความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรม ใหม่ๆ 
  3. ลดความสำคัญของความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรม ของตัวเองลง เปิดรับความแตกต่าง หลากหลายที่มาจากแนวคิดและมุมมองด้านอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง