รีเซต

เช็กตัวเองเสี่ยง! "หมดไฟในการทำงาน" หรือไม่ หากเริ่มมีสัญญาณเตือนต้องแก้อย่างไร?

เช็กตัวเองเสี่ยง! "หมดไฟในการทำงาน" หรือไม่ หากเริ่มมีสัญญาณเตือนต้องแก้อย่างไร?
TNN ช่อง16
11 กันยายน 2565 ( 10:02 )
155

"ภาวะหมดไฟในการทำงาน" หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีความรู้สึกเหล่านี้? "ทำไมวันหยุดผ่านไปไวมากเหมือนไม่ได้หยุด" หรือ "พรุ่งนี้วันจันทร์ต้องทำงานแล้ว"

เชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยมีความรู้สึกข้างต้นกันบ้าง เมื่อต้องกลับเข้าสู่โหมดการทำงาน โดยเฉพาะเวลาที่หยุดได้พักผ่อนไปยาวๆ หลายๆ วัน แล้วต้องเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง

ไม่นานมานี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้มีการนำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของ "ปัญหาการหมดไฟในการทำงาน"

ปัจจุบันแรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และลาออกจากงานมากขึ้น ซึ่งการสำรวจของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดลที่สำรวจแรงงานในกรุงเทพมหานคร ปี 2562 พบว่า แรงงานในทุกกลุ่มอาชีพมีภาวะหมดไฟในระดับสูง โดยเฉพาะ "พนักงานรัฐวิสาหกิจ" มีภาวะหมดไฟร้อยละ 77 รองลงมาเป็น คนที่ทำงานใน "บริษัทเอกชน" ร้อยละ 73 ขณะที่ "ข้าราชการ" ร้อยละ 58 และคนที่ "ประกอบธุรกิจส่วนตัว" ร้อยละ 48 

ดังนั้น นายจ้าง/องค์กรต่างๆ ต้องการกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน

 ภาพจาก AFP


"ภาวะหมดไฟในการทำงาน" (burnout syndrome) ใครที่กำลังมีความเสี่ยงและใครที่กำลังเผชิญอยู่ เรามาทำรู้จักภาวะนี้ให้มากขึ้น

ข้อมูลจาก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout syndrome) ไว้ว่า

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่ 

1. มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ  

2. มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ 

3. มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า

คนทำงานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ หากรู้สึกว่างานของตนเองมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ

2. ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน

3. ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป

4. รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม

5. ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน

6. ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

ระยะต่าง ๆ ในการทำงานซึ่งนำมาสู่ภาวะหมดไฟ (Miller & Smith, 1993) แบ่งได้ดังนี้

1. ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน และองค์กร

2. ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจ และเหนื่อยล้า

3. ระยะไฟตก (brownout) คนที่งานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง

4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่

5. ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย

หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่างๆ ดังนี้

ผลด้านร่างกาย

- อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ

ผลด้านจิตใจ

- บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์

ผลต่อการทำงาน

- อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

ภาพจาก AFP


สัญญาณเตือนว่าเริ่มเกิดภาวะหมดไฟมีอะไรบ้าง

อาการทางอารมณ์

- หดหู่ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด ไม่พอใจในงานที่ทำ

อาการทางความคิด

- เริ่มมองงานหรือคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่น สงสัยความสามารถของตนเอง และอยากเลี่ยงปัญหา

อาการทางพฤติกรรม

- หุนหันพลันแล่น ผัดวันประกันพรุ่ง ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น บริหารจัดการเวลาแย่ลง

หากเกิดภาวะหมดไฟ จะจัดการอย่างไร

- พัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา และความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรอง การยืนหยัดเพื่อรักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง

- ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น

- แสวงหาความช่วยเหลือ และอาจหาที่ปรึกษา (coach and mentor)

- ร่วมกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ "ภาวะหมดไฟ" ในการทำงานไม่ใช่ "โรคซึมเศร้า" แต่ถ้าหากคนทำงานเริ่มมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

การประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burn out) ด้วยตนเอง

คลิกที่นี่ การประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน



ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล / สภาพัฒน์

ภาพจาก AFP (แฟ้มภาพประกอบบทความ)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง