บริษัทญี่ปุ่นให้พนักงาน เป็นฝ่ายเลือกหัวหน้าที่อยากทำงานด้วยตัวเอง

จะเป็นยังไง ถ้าพนักงานบริษัทตัวเล็กๆ สามารถเลือกหัวหน้าได้ด้วยตัวเอง บริษัทในประเทศญี่ปุ่นผุดไอเดียนี้ เพื่อป้องกันปัญหาพนักงานเข้ากับหัวหน้าไม่ได้ จนพนักงานแห่กันลาออก แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร?
บริษัทสถาปนิกซากุระ โคโซ่ ซึ่งตั้งอยู่ในฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ได้นำระบบการจัดการแบบใหม่นี้มาใช้ในปี 2019 ที่มาก็เพราะว่า ในช่วงเวลานั้น บริษัทกำลังเผชิญกับอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานที่เพิ่มขึ้นประมาณ 11%
ตัวเลขอาจดูไม่เยอะ แต่ถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก เมื่อต้องคำนึงถึงต้นทุนของการเปลี่ยนพนักงาน การเฟ้นหาแคนดิเดตใหม่ ซึ่งกินระยะเวลาค่อนข้างพอสมควร การหาบุคลากรใหม่ให้กับบริษัท ยังกระทบต่อประสิทธิภาพและผลงานที่ออกมาด้วย
และโดยเฉพาะ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่น กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว
เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ บริษัทจึงตัดสินใจทบทวนโครงสร้าง และการจัดการใหม่เพื่อรักษาพนักงานประมาณ 120 คนไว้ พวกเขาให้พนักงาน กรอกให้คะแนนผู้บังคับบัญชา ตามเกณฑ์ 14 ข้อ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการคำนึงถึงความกังวลของผู้ใต้บังคับบัญชา และทักษะการแบ่งปันความรู้
หลังจากนั้น พนักงานทุกคนจะได้รับรายงานรายละเอียดคุณสมบัติและจุดอ่อนของผู้จัดการแต่ละคน เพื่อให้สามารถเลือกได้ว่าต้องการทำงานกับใครในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
กลายเป็นเรื่องแหวกแนว ทลายวัฒนธรรมการทำงานที่ผู้น้อยต้องเชื่อฟังและอยู่ใต้บังคับบัญชาจากผู้จัดการ ไม่มีสิทธิเลือกได้เท่าไหร่นัก ในตอนแรก หลายคนจึงคิดว่า นี่เป็นเพียงกลเม็ดหลอกล่อเอาใจคนทำงาน ให้ยังคงอยู่กับบริษัท แต่กลายเป็นว่า หลังจากนั้น อัตราการลาออกของพนักงาน ลดลงอยู่ที่ต่ำกว่า 1%
ที่สำคัญ พนักงานค่อนข้างพอใจกับนโยบายภายในใหม่นี้ พวกเขาบอกว่า การที่ได้เป็นฝ่ายเลือกว่าจะทำงานกับผู้จัดการคนไหน ทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมกับงาน แถมยังเข้ากับหัวหน้าที่เขาเลือกด้วยตัวเองได้ดีกว่า
การเลือกผู้จัดการที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นแบบดั้งเดิม แต่ยังสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นในที่ทำงานได้อีกด้วย
โดยเฉพาะในสังคมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป พนักงานรุ่นใหม่มีความไวต่อสภาพแวดล้อมการทำงานเป็นพิเศษ สำหรับพวกเขาแล้ว สำนักงานไม่ได้เป็นเพียงที่ทำงาน แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญในชีวิตที่พวกเขาสามารถเจริญเติบโตได้ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน
มีบทความใน Harvard Business Review France บอกกว่า สำหรับคนทำงานยุคใหม่ ความภักดีต่อบริษัท หรือ loyalty ไม่ได้เกี่ยวกับความกลัวการสูญเสียงานอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นความต้องการที่จะมีความสุขในที่ทำงานมากกว่า
พวกเขามักจะรู้สึกว่า การอยู่ในงานที่ไม่รู้สึกเติมเต็มเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเต็มใจที่จะลาออกหากพบความผิดปกติในที่ทำงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับผู้จัดการของตัวเอง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
