รีเซต

เผยผลสำรวจ "ปชช.-บุคลากรแพทย์" เครียดมากขึ้นช่วงผ่อนปรนฯ โควิด-19

เผยผลสำรวจ "ปชช.-บุคลากรแพทย์" เครียดมากขึ้นช่วงผ่อนปรนฯ โควิด-19
มติชน
17 มิถุนายน 2563 ( 16:57 )
482
เผยผลสำรวจ "ปชช.-บุคลากรแพทย์" เครียดมากขึ้นช่วงผ่อนปรนฯ โควิด-19
เผยผลสำรวจ “ปชช.-บุคลากรแพทย์” เครียดมากขึ้นช่วงผ่อนปรนฯ โควิด-19

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการประเมินสุขภาพจิตประชาชนในช่วงการระบาดโควิด-19 เป็นระยะ รวม 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีการสำรวจวันที่ 26-30 พฤษภาคม โดยสำรวจความเครียด ภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า ความคิดทำร้ายตัวเอง ทั้งในกลุ่มประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความเครียดระดับมากเพิ่มมากจากร้อยละ 4.8 เป็นร้อยละ 7.9 เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนเครียดระดับมากเพิ่มจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 4.2

 

นพ.จุมภฎ กล่าวว่า ส่วนภาวะหมดไฟพบว่า เพิ่มมากขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม โดยในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข แม้ว่าการระบาดจะลดลง แต่ภาระงานยังเพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคอื่นๆ กลับเข้ามาเหมือนเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปก็มีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะความพยายามในการต่อสู้กับความยากลำบากทำให้เกิดความเหนื่อยล้าหมดไฟได้

 

“การสำรวจข้อนี้จะแบ่งเป็น 3 ด้าน 1.ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง หมดหวัง สูญเสียพลังงานทางจิตใจ บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6.5 ส่วนประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 3.6 2.ด้านการมองความสามารถในการทำงานลดลง ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจากร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 4.7 ประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 2.2 เป็นร้อยละ 3.2 และ 3.การมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานในทางลบ ระแวงง่ายขึ้น รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 4.9 และประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 1.7 เป็นร้อยละ 2.6” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

 

นพ.จุมภฎ กล่าวว่า สำหรับอาการซึมเศร้า บุคลากรสาธารณสุข เพิ่มจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 3 ประชาชน ซึมเศร้าเพิ่มจากร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 1.6 เช่นเดียวกับความคิดทำร้ายตัวเองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยบุคลากรการแพทย์ เพิ่มจากร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 1.3 ขณะที่ประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ 0.9 ทั้งนี้ แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ต้องระวัง และประเมินสถานการณ์ต่อไปเพราะภาวะซึมเศร้าเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง ส่วนด้านความกังวลพบว่าทั้ง 2 กลุ่ม กลัวติดเชื้อแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขระดับประเทศ และระดับจังหวัดของคนเองคิดเป็นร้อยละ 99 นับเป็นกำลังใจให้คนทำงานมากที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ

 

“ขอย้ำว่าภาวะอารมณ์ของคนมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน แม้ภายนอกอาจจะดูเหมือนว่าปกติดีก็ตาม ดังนั้นขอให้ประชาชนช่วยกันสังเกตอารมณ์ตัวเอง สังเกตคนรอบข้าง คนในครอบครัวว่ามีปัญหาความเครียด ความกังวลอย่างไรหรือไม่ สังเกตง่ายๆ คือมีอาการซึมลงหรือไม่ นอนไม่หลับ ใช้สารเสพติด ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่มากขึ้นหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้กับตัวเอง หรือคนรอบข้าง ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1323 เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้น หากไม่ดีขึ้น จะได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป” นพ.จุมภฎ กล่าวและว่า แผนการดูแลสุขภาพจิต จะดู 3 ด้าน คือพลังใจ อึด ฮึด สู้ ระดับบุคคล 2.การทำให้ครอบครัวเข้มแข็งจับมือผ่านปัญหา และ3. ทำให้ชุมชนสร้างความรู้สึกปลอดภัย มีหวังว่าจะผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน ไม่กีดกัน แบ่งแยก ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้ามีการระบาดรอบ 2 เราสามารถใช้แนวทางเดิมนี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง