รีเซต

เจนซี "จีน" เป็นฮีโร่ไม่รู้ตัว ใช้จ่ายตามอารมณ์ = ช่วยชาติ ?

เจนซี "จีน" เป็นฮีโร่ไม่รู้ตัว  ใช้จ่ายตามอารมณ์ = ช่วยชาติ ?
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
13

อยากได้ก็ต้องซื้อ - ของมันต้องมี - ซื้อแล้วมีความสุข

ยอมอดข้าวหรือกินของถูกๆ แต่ได้ซื้อกาแฟหรือชาไข่มุกเจ้าอร่อยแพงหน่อยแต่ก็ยอม 

บางคนก็ซื้อเสื้อผ้าน้อยลง เพราะจะได้เอาเงินไปซื้อกล่องสุ่ม หรือบัตรคอนเสิร์ต 

สิ่งที่พูดมาทั้งหมด เป็นการใช้จ่ายที่หลายคนอาจจะเป็นอยู่

รวมไปถึงที่ประเทศจีน ที่มีข่าวว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่นิยมช็อปปิ้งตามอารมณ์ 

และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่จะเลวร้ายเสมอไป 

เพราะมีรายงานว่าความฟุ่มเฟือยเหล่านี้กำลังช่วยประคองหรือพยุงเศรษฐกิจจีนเอาไว้

แบบที่คนเจนซีแทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ 


ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างมหาอำนาจ "สหรัฐฯ และ จีน" 

เราอาจจะได้เห็นรายงานว่าผู้คนเริ่มใช้ชีวิตอยู่บนความกังวลใจ

ประชาชนเริ่มรัดเข็มขัด ไม่กล้าใช้จ่าย แม้กระทั่งการกินข้าวนอกบ้านยังลดลง 

เช่น แมคโดนัลด์ ในสหรัฐอเมริกา ยอดขายต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากการที่ลูกค้ากลุ่มหลัก

ซึ่งก็คือกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางเข้าร้านน้อยลง เพราะตัดการใช้เงินซื้อของกินนอกบ้าน


แต่ในขณะเดียวกันมองที่ไปจีน มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ

ระบุว่าคนรุ่นใหม่พร้อมจ่ายเงิน ช็อปปิ้่งตามอารมณ์ ไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ  

อ้างอิงเรื่องนี้จากบทความจากสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2025 

รายงานว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีน (Gen Z) กำลังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศของตนเอง

ด้วยพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เรียกว่า การใช้จ่ายเชิงอารมณ์ (emotional spending)  

เนื่องจากประเทศจีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

และรับแรงกระแทกจากภาษีทรัมป์ 

หรือการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์

ด้วยอัตราที่มากกว่า 100  % โดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ

เนื่องจากต้องการตอบโต้ประเทศจีนที่เป็นคู่หลักรายใหญ่ที่สุด

ที่ทางการสหรัฐฯนั้นต้องขาดดุลการค้า  

แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงไปบ้าง จากการที่ทั้งสองฝ่ายหันมาเข้าสู่โต๊ะเจรจา

พร้อมประกาศ "พักรบภาษี" ระงับการขึ้นเพิ่มเติมชั่วคราว 90 วัน 

โดยสหรัฐฯ ลดภาษีจาก 145% เหลือ 30%

 และจีนลดภาษีจาก 125% เหลือ 10%  

ข้อตกลงนี้ช่วยลดความตึงเครียดทางการค้าและส่งสัญญาณถึงความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แต่คำตอบปลายทางของเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน 

 

 ข้อมูลระบุว่าตอนนี้แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวจากปัจจัยต่างประเทศและภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น 

แต่ Gen Z ของจีนกลับมีแนวโน้มใช้จ่ายเงินในสินค้าที่ให้ความสุขทางใจ

เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม เฉพาะทาง เช่น ของเล่นสะสม กล่องสุ่ม เครื่องประดับ 

ชานมไข่มุกเจ้าดังหรือกาแฟราคาแพงๆ  

ซื้อคอร์สเรียนออนไลน์หรือบริการสมัครสมาชิกแม้ไม่จำเป็น


พฤติกรรมนี้เรียกว่า "การใช้จ่ายเชิงอารมณ์" (emotional spending)

ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้

โดยกลุ่ม Gen Z (เจน ซี) หรือ Generation Z กลุ่มนี้มีอายุประมาณ  13–28 ปี  

ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศจีน


ตัวอย่างที่ชัดเจน และคนไทยก็รู้จักกันดี เช่น การซื้อกล่องสุ่ม หรือกล่องจุ่ม Art Toy

ที่ยังคงทำยอดขาย และการเติบโตสวนตลาดอื่นๆได้

โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ของตลาด บริษัท Pop Mart ซึ่งเป็นของจีน 

เป็นจ้าวแห่งกล่องสุ่ม Art Toys ที่โตเร็วสุดในจีน


Art Toy ของ POPMART เป็นการซื้อของเล่นโดยระบบสุ่ม 

เพื่อให้คนซื้อได้ลุ้นและสะสมเป็นคอลเลกชั่นต่างๆ 

ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ Gen Z ของจีน 

เป็นของเล่นที่คนเล่นไม่ใช่แค่เด็กแต่คือผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน 

โดยเฉพาะลิซ่า ศิลปินชาวไทยระดับโลกก็คลั่งไคล้ อย่างหนัก และยังทำให้กระแสนี้ถูกพูดถึงขยายไปทั่วโลก 

ขณะที่ยอดขายและมูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก 

นักลงทุนต่างให้ความสนใจในบริษัท 

ที่สามารถตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของผู้บริโภคกลุ่มนี้


บริษัทป๊อปมาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (Pop Mart International Group) 

ของจีนประกาศจะขยายธุรกิจทั่วโลกต่อไป โดยมุ่งเน้นที่ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป 

หลังรายงานผลกำไรที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีที่ผ่านมา 

อันเป็นผลจากความนิยมของตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu) ซึ่งได้รับความชื่นชอบจากเหล่าคนดัง


ป๊อปมาร์ท กลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ร้อนแรงที่สุด โดยราคาหุ้นพุ่งขึ้น 350% ในปีที่ผ่านมา

รายได้สุทธิของป๊อปมาร์ทเพิ่มขึ้น 188% แตะระดับ 3.1 พันล้านหยวน (427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2567 

เทียบกับ 1.1 พันล้านหยวนในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 2.71 พันล้านหยวน

 ขณะที่ยอดขายทั้งปีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวแตะ 1.3 หมื่นล้านหยวน


ที่สำคัญคือ การใช้จ่ายเชิงอารมณ์ของ Gen Z จีนไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค 

ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสุขส่วนตัวมากกว่าการออมเงิน


 "Emotional Spending"  ใช้จ่ายตามอารมณ์

แม้ในมุมนึงวันนี้จะเป็นฮีโร่ประคองเศรษฐกิจจีนและหลายประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤตได้

แต่ในชีวิตจริงก็ไม่ใช่หนทางที่ดีสำหรับตัวเรา ไม่ควรทำบ่อยนัก

ถามว่าเราอยู่ในกลุ่มนี้หรือมั้ย ไม่จำเป็นต้องเป็นเจนซี คนรุ่นใหม่

ก็ต้องระวังเช่นกัน - มาเช็กตัวเองกันดู 


ถามตัวเองกันดู ใครเป็นแบบนี้กันบ้าง ?  


- ชอบช้อปออนไลน์ช่วงดึก

- ชอบซื้อของตกแต่งบ้าน

- ซื้อของแพงเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง 

- เข้าไปดูไปเลือกในแอปซื้อของไปเรื่อยๆโดยที่ไม่มีเป้าหมายว่าจะซื้ออะไร

ทั้งหมดที่ว่า คือ Emotional Spending

เป็นการใช้จ่ายที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์

หมายถึง พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตัดสินใจใช้เงินไปกับสินค้าและบริการโดยมีแรงผลักดันจากอารมณ์ 

ความรู้สึก หรือสภาวะทางจิตใจ  เช่น ความเครียด ความเหงา ความดีใจ หรือความเบื่อหน่าย

มากกว่าการพิจารณาความจำเป็นทางเหตุผล หรือขาดการวางแผนทางการเงิน

ซึ่งซื้อเหล่านี้อาจจะมาจากปัจจัยทางอารมณ์ที่เราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นอยู่

เช่น  มีความเครียดหรือกดดัน จึงช้อปออนไลน์ช่วงดึกเพื่อผ่อนคลาย      

รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว จึงซื้อของตกแต่งบ้านเพิ่มความอบอุ่น     

รู้สึกเฉลิมฉลอง  ซื้อของแพงเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง   

รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต  เลยใช้เวลากับแอปซื้อของโดยไม่มีเป้าหมาย 


ลักษณะสำคัญของการใช้จ่ายที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์

1. ไม่ได้เกิดจากความจำเป็น  เช่น การซื้อของฟุ่มเฟือยโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า

2. เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจ เช่น ช้อปปิ้งหลังทะเลาะกับคนรัก หรือซื้อของรางวัลให้ตัวเองหลังจากทำงานหนัก

3. ให้ความรู้สึกปลอบประโลมชั่วคราว  ผู้บริโภคมักรู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจรู้สึกผิดหรือเครียดเรื่องเงิน


ถามว่าทำไม Gen Z  โดยเฉพาะในจีนจึงมีแนวโน้มใช้จ่ายแบบขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มากกว่ากลุ่มอื่น


1. โตมากับความไม่มั่นคง       Gen Z ในจีนเติบโตช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการแข่งขันสูง                

2. ค่านิยม “บำบัดตนเอง”       เชื่อว่าการใช้จ่ายเล็กน้อยช่วยเยียวยาความเครียดในชีวิตประจำวัน               

3. อิทธิพลโซเชียลมีเดีย        เห็นสินค้า “น่ารัก” หรือ “อินเทรนด์” บน Douyin (TikTok จีน), Xiaohongshu ฯลฯ 

4. เข้าถึงช่องทางการซื้อสะดวก ใช้แอปอย่าง Taobao, WeChat Pay, Alipay ทำให้การซื้อเป็นเรื่องง่ายและเร็ว     

5. ใช้ชีวิตแบบ “ปัจจุบันนิยม”  มีแนวโน้มไม่วางแผนอนาคตทางการเงินระยะยาวมากนัก เน้นความสุขระยะสั้น           


ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ

เชิงบวก: กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบ

* ช่วยกระตุ้นยอดขายในธุรกิจค้าปลีก ความบันเทิง และสินค้าไลฟ์สไตล์

* ทำให้บริษัทจีนจำนวนมากหันมาโฟกัสตลาด Gen Z โดยเฉพาะ

* กลายเป็น “พลังผู้บริโภค” ใหม่ ที่ทดแทนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว


เชิงลบ:ก่อให้เกิดหนี้สิน ความรู้สึกผิด และพฤติกรรมบริโภคที่ไม่ยั่งยืน

อาจสร้างวัฒนธรรมการใช้จ่ายเกินตัว                        

ก่อให้เกิดหนี้สินในกลุ่มเยาวชน                           

การใช้จ่ายจากอารมณ์แทนเหตุผลส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพการเงิน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง