รีเซต

สมาร์ตโฟนกว่า 5.3 พันล้านเครื่องจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 74 ล้านตันในปี 2030

สมาร์ตโฟนกว่า 5.3 พันล้านเครื่องจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 74 ล้านตันในปี 2030
TNN ช่อง16
16 ตุลาคม 2565 ( 09:39 )
74

รู้หรือไม่ ? สิ่งแวดล้อมทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนที่กลายเป็นสัดส่วนหลักของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน ล่าสุดคาดการณ์กันว่าภายในปีนี้จะมีสมาร์ตโฟนเหลือทิ้งปริมาณมากถึง 5.3 พันล้านเครื่องเลยทีเดียว



ข้อมูลจากองค์กรว่าด้วยการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (Waste electrical and electronic equipment - WEEE) เผยว่าสมาร์ตโฟนกลายเป็นหนึ่งตัวการหลักที่ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสิ่งแวดล้อม และในฐานะของขยะชิ้นหนึ่งทำให้ยากแก่การนำกลับไปรีไซเคิล 


นั่นหมายความว่า แม้สายไฟภายในสมาร์ตโฟนจะมีทองแดงปะปนอยู่ หรือมีส่วนประกอบโคบอลต์ในแบตเตอรี่ แร่ทั้งหมดนี้กลับไม่สามารถนำมาสกัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ในเชิงอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นในการผลิตสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่จำเป็นต้องนำแร่จากการทำเหมืองมาใช้ จะเห็นได้ว่านอกจากสมาร์ตโฟนเหลือทิ้งจะกลายเป็นขยะแล้ว กระบวนการผลิตสมาร์ตโฟนชิ้นใหม่ยังสร้างมลพิษทางอ้อมแก่สิ่งแวดล้อมด้วย


ที่มาของภาพ Maxpixel

 


องค์กร WEEE คาดการณ์ว่ามีสมาร์ตโฟนทั่วโลกประมาณ 1.6 หมื่นล้านเครื่อง และจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมดไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และกำลังจะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากข้อมูลดังกล่าวจึงสามารถประมาณได้ว่า ภายในปี 2022 นี้ จะมีขยะสมาร์ตโฟนจำนวน 5.3 พันล้านเครื่อง และภายในปี 2030 เชื่อว่าจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสมาร์ตโฟนน้ำหนักมากถึง 74 ล้านตัน


สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาในปัจจุบันอาจมีทางเลือกไม่มากนัก เพราะหน่วยงานต่าง ๆ คงไม่สามารถบีบบังคับให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลงได้ แต่สามารถใช้มาตรการอื่น ๆ เข้าจัดการได้ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สหภาพยุโรปเสนอกฎหมายให้สมาร์ตโฟนต้องอยู่ได้นาน 5 ปี และผู้ผลิตต้องมีอะไหล่สำรองอย่างเพียงพอไว้ซ่อมแซม กฎหมายนี้จะช่วยชะลอไม่ให้สมาร์ตโฟนถูกเปลี่ยนผ่านกลายเป็นขยะรวดเร็วจนเกินไป (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้)


ที่มาของภาพ Unsplash

 


ส่วนวิธีแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งนั้น คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยรีไซเคิลชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสมาร์ตโฟน ให้นำกลับมาใช้ใหม่ในภาคอุตสาหกรรมได้อีกครั้ง แต่วิธีการนี้คงต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาสักระยะหนึ่งกว่าจะมีประสิทธิภาพและคุ้มทุนมากพอ ดังนั้น จึงหวังว่าในเวลานี้ทุกคนจะร่วมมือกันใช้อุปกรณ์ของตนเองให้นานขึ้นอีกสักนิด อย่างน้อยคุณก็เป็นอีกหนึ่งคนสำคัญที่ช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสิ่งแวดล้อมได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง