รีเซต

ไทยเบฟ-TU เขย่าวงการ ผนึกลุยเครื่องดื่มสุขภาพ

ไทยเบฟ-TU เขย่าวงการ ผนึกลุยเครื่องดื่มสุขภาพ
ทันหุ้น
7 ตุลาคม 2563 ( 07:30 )
298
ไทยเบฟ-TU เขย่าวงการ ผนึกลุยเครื่องดื่มสุขภาพ

ทันหุ้น-สู้โควิด : 2ตระกูลดัง ไทยเบฟ-TU ผนึกตั้ง ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด รุกอาหารและเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ จริงจัง “ฐาปน-ธีรพงศ์” นั่งกรรมการเอง วงในชี้สนิทกัน ต้องการสร้างนวัตกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม เปิดแนวคิด TU เดินเกมร่วมพันธมิตรใช้จุดเด่นเสริมธุรกิจใหม่ โบรกเกอร์ชี้ระยะยาวดี ส่วนกำไร TU ไตรมาส 3/63 สวย จ่อเพิ่มเป้ากำไรปี 63-64 หวังปันผลยีลด์ 4% ได้

 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ร่วมจัดตั้งกิจการร่วมค้า บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งจะทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าของฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นในฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ ยูไนเต็ด ประกอบด้วยบริษัท เบฟเทค จำกัด ถือหุ้น 509,999 หุ้น หรือ 50.9999% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รองลงมาได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ถือหุ้น 490,000 หุ้น หรือ 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และบริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ถือหุ้น 1 หุ้น หรือ 0.0001% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

 

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายปราโมทย์ พรประภา (กรรมการอิสระ) , นายฐาปน สิริวัฒนภักดี , นายธีรพงศ์ จันศิริ , ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ และนายดนัย ครามโกมุท

สำหรับบริษัท เบฟเทค จำกัด เป็นบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ธุรกิจในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อลงทุนพัฒนาเครื่องจักร หุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับใช้ในโรงงาน

 

@ จุดเด่นประสานกัน

 

ด้านแหล่งข่าววงการตลาดทุน เปิดเผยว่า การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นแนวทางการขยายไลน์ธุรกิจของ TU มาสู่เครื่องดื่ม ด้วยการผนึกกับพันธมิตร หลังจากที่ผ่านของ TU แสดงให้เห็นแล้วว่าได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจใหม่ อย่างล่าสุดในกรณีร้านอาหาร Red Lobster ก็ได้มีการดึงพันธมิตรอย่าง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าไปถือหุ้น ซึ่งจะทำให้ระบบการบริหารจัดการร้านอาหาร ซัพพลายเชนต่างๆ มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้

 

ซึ่งในส่วนของ ไทยเบฟ เองก็มีจุดเด่นด้านเครื่องดื่มและการกระจายสินค้าทั่วประเทศ ขณะที่ TU เองมีจุดเด่นด้านการจิจัยและพัฒนามี วัตถุดิบที่ เป็นน้ำมันจากปลา DHAบำรุงสมอง เสริมความจำ กระดูกปลา ซึ่งมีแคลเซียม อยู่แล้วซึ่งที่ผ่านมาขายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม แต่การเข้าเข้ารุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพผ่านทางบริษัทใหม่ จะทำให้ TU ได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง (END USER) มากขึ้น

 

ประกอบกับเครื่องดื่มวิตามิน หรือ ฟังก์ชั่นนอลดริงค์ กระแสรักสุขภาพมาแรง ดังนั้น TU และ ไทยเบฟ ก็จะเริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องดื่มออกมาก่อน

 

@ จับตานวัตกรรมอาหาร

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบกับทางไทยเบฟเวอร์เรจ พบว่า ความร่วมมือกับครั้งนี้เนื่องจากผู้บริหารมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว และทั้งคู่ตั้งใจที่จะสร้างผลิตใหม่ที่มีเป็นนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของ TU เองก็ถือว่ามีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมในระดับโลก ขณะที่ไทยเบฟต้องการที่จะขยายพอร์ตเครื่องดื่มที่เป็นนอนแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น  โดยจะมีทั้งเครื่องดื่ม และ อินโนเวชั่นฟู๊ด

 

นายกิจพล ระบุด้วยว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อรายได้ระยะยาว แต่ช่วงสั้นอาจจะยังไม่เห็นรายได้มีนัยสำคัญต่อพอร์ตของทั้ง 2 บริษัทซึ่งมีขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว ส่วนแนวทางเบื้องต้นน่าจะผลิตและขายในไทยก่อน เนื่องจากการส่งออกโดยใช้เครือข่าย TU ยังทำได้ยากเพราะเครื่องดื่มจะมีข้อเสียในด้านของน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชั่นนัลดริงค์ที่จะออกมานั้นจะมีมาร์จิ้นดีกว่าเครื่องดื่มแบบเทรดดิชั่นนอลดริงก์

 

@คาดกำไร TU ใน Q3 โต

 

บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) มีมุมมองเป็นบวกต่อผลประกอบการของ TU ในงวดไตรมาส 3/2563 ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,835 ล้านบาท เติบโต 45% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และโต 7% จากไตรมาส 2/2563 เพราะธุรกิจทูน่ากระป่องดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ธุรกิจอาหารแช่แข็งดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 รวมถึงคาดว่าธุรกิจของ Red Lobster จะขาดทุนน้อยลงจากปริมาณลูกค้าเพิ่มขึ้น และแผนการลดค่าใช้จ่ายอย่างมากและชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจในส่วนของกุ้ง และแซลมอนก็ดีขึ้นจากการที่กลุ่มลูกค้าร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

 

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/2563 คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท และคาดว่าแนวโน้มราคาทูน่าจะอ่อนตัว เพราะการจับปลาด้วยเครื่องล่อทำได้ตามปกติจึงมีปริมาณทูน่าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และธุรกิจ Red Lobster จะอ่อนตัวลง เพราะเป็นช่วงฤดูอากาศหนาว ทำให้ปริมาณลูกค้าเข้าร้านลดลงซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล

 

โดยแนะนำซื้อเก็งกำไร ให้ราคาเป้าหมายของปี 2564 อยู่ที่ 15.50 บาทต่อหุ้น

 

**เล็งปรับเพิ่มกำไรปี 63-64

 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด ระบุว่ามีแนวโน้มจะปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิของ TU ในงวดปี 2563-2564 ขึ้นเฉลี่ย 10-15% จากปัจจุบัน หลังประกาศงบไตรมาส 3/2563 เพื่อสะท้อนผลดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ดีกว่าคาด ซึ่งภายใต้ประมาณการปัจจุบัน คาดกำไรสุทธิปี 2563-2564 จะเพิ่มขึ้นถึง 32.2% และ 10.0% ตามลำดับ จากธุรกิจทูน่ากระป๋องและอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3/2563 จะอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้มาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจ Red Lobster,ธุรกิจอาหารแช่เย็นและแช่แข็งฟื้นตัว หลังจากที่ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติแล้ว ขณะที่ Valuation ของหุ้นยังน่าสนใจมีค่าพี/อี เรโช เพียง 13 เท่าและคาดหวังปันผลได้กว่า 4% ต่อปี ดังนั้นจึงแนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 17 บาทต่อหุ้น

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง