สหรัฐฯ ทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีประยะทาง 6,759 กิโลเมตร แสดงศักยภาพระบบนิวเคลียร์

วันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ได้ทำการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปแบบไม่ติดหัวรบ (ICBM) รุ่นมินิทแมน III (Minuteman III) ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อยืนยันถึงความพร้อมและศักยภาพของระบบอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ
ขีปนาวุธถูกยิงจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย เวลา 03:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออก (ET) และเดินทางไกลถึง 4,200 ไมล์ หรือ 6,760 กิโลเมตร ก่อนลงจอดที่ฐานทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธโรนัลด์ เรแกน บนเกาะควาจาเลน ในหมู่เกาะมาร์แชลล์
การทดสอบนี้ได้รับการวางแผนล่วงหน้าหลายเดือน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ตามคำแถลงจากหน่วยปล่อยยานของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
กองบัญชาการการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับกองบินขีปนาวุธที่ 90 และ 341 จากรัฐไวโอมิงและมอนทานา เพื่อสนับสนุนภารกิจครั้งนี้
พลเอกโธมัส บูซเซียร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการฯ กล่าวว่า การทดสอบนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความพร้อมของระบบนิวเคลียร์สามเหลี่ยม สามประสาน (Nuclear triad) ซึ่งประกอบด้วย
1. ขีปนาวุธยิงจากพื้น (เช่น มินิทแมน III)
2. ขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ
3. อาวุธนิวเคลียร์ที่ติดตั้งบนเครื่องบิน
ปัจจุบัน ขีปนาวุธมินิทแมน III ไม่มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หลายลูก (MIRV) ตั้งแต่ปี 2014 เพื่อสอดคล้องกับสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ และมีกำหนดเลิกใช้งานปลดประจำการภายในปี 2030 โดยจะถูกแทนที่ด้วยขีปนาวุธรุ่นใหม่ LGM-35 Sentinel ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยบริษัท Northrop Grumman
สำหรับเทคโนโลยี ICBM โดยทั่วไป ขีปนาวุธเหล่านี้สามารถเดินทางไกลกว่า 5,500 กิโลเมตร โดยออกจากชั้นบรรยากาศโลกก่อนกลับเข้าสู่เป้าหมายด้วยความเร็วสูง ปัจจุบันหลายประเทศกำลังพัฒนาระบบนำส่งใหม่ที่สามารถบินด้วยความเร็วเหนือเสียงและเปลี่ยนทิศทางกลางอากาศ ซึ่งยากต่อการสกัดกั้น
โดยประวัติของ ICBM นั้นเริ่มต้นในยุคสงครามเย็น โดยสหภาพโซเวียตเปิดตัวยุคขีปนาวุธข้ามทวีปในปี 1957 ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับจรวดที่ส่งดาวเทียมสปุตนิก ขณะที่สหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการพัฒนา SM-65 Atlas ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาไปเป็นจรวดที่ใช้ในภารกิจอวกาศของโครงการเมอร์คิวรี รวมถึงจรวด Atlas-Centaur และ Atlas V ซึ่งยังคงใช้งานในภารกิจอวกาศปัจจุบัน