รีเซต

ชินเดลิเวอรี่ นั่งกินในร้านยังไม่ฟื้น โจทย์ท้าทาย "ร้านอาหาร" ยุคหลังโควิด-19

ชินเดลิเวอรี่ นั่งกินในร้านยังไม่ฟื้น โจทย์ท้าทาย "ร้านอาหาร" ยุคหลังโควิด-19
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2564 ( 07:00 )
148

ธุรกิจร้านอาหารหน้าชื่นตาบานอีกครั้ง เมื่อคำสั่ง ศบค.ล่าสุดไฟเขียวให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 เป็นต้นไป ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนคนนั่งไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คำสั่งฟ้าผ่าล็อกดาวน์ปิดร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก บางแห่งต้องปิดตัวลงเพราะแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ขณะเดียวกันอีกหลายแห่งต่างปรับตัวด้วยการหันมาส่งเดลิเวอรี่แทน 

ด้านยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจอาหารและฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้าน The Pizza Company , Swensen's , Sizzler , Dairy Queen , Burger King , Bonchon และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน 

อ่วม! ล็อกดาวน์ทุบ "ร้านอาหาร" สูญ 130 ล้าน!

คุณประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดคำสั่งฟ้าผ่าลงในวงการธุรกิจอาหาร เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์ปิดร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า จนถึงปลายเดือนสิงหาคมวันที่คลายล็อกดาวน์ รวมๆ แล้วประมาณ 40 วัน เป็นช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารวุ่นวายที่สุดระดับหนึ่ง โดยเป็นครั้งแรกที่ต้องปิดร้าน และยังรวมไปถึงการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องพนักงานที่จำเป็นต้องให้หยุดงานจากเหตุดังกล่าวด้วย

แต่เนื่องด้วยทางบริษัทฯ มีช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งการเปิดนอกห้าง และการส่งเดลิเวอรี่ ทำให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ขณะที่ บางแบรนด์ที่อยู่ในห้างอย่าง Dairy Queen , Swensen's , Sizzler , Bonchon ทางบริษัทฯ ได้ใช้วิธีการย้ายสินค้า แม้กระทั่งตู้แช่ไอศกรีมของ Swensen's ไปไว้ในร้านที่อยู่นอกห้างแทน ซึ่งยังสามารถขายแบบเดลิเวอรี่และสั่งกลับบ้านได้ ทำให้ยอดขายไม่ได้ตกจนเป็นศูนย์ แต่ก็ถือว่าได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยในเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทฯ มีรายได้ลดลงไปถึง 24% หรือประมาณ 130 ล้านบาทที่หายไปจากการปิดกิจการในห้างสรรพสินค้า

เดลิเวอรี่ ต้นทุนเพิ่มเกือบ 20% แต่ต้องขายราคาเท่าเดิม

คุณประพัฒน์ เผยว่า ก่อนหน้านี้ ด้วยความเป็นไมเนอร์ฯ ต้องการให้ธุรกิจเติบโตในทุกๆ ช่องทาง จึงมีแผนเตรียมไว้ทั้งการรับประทานในร้าน สั่งกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา กลายเป็นว่าช่องทางสั่งกลับบ้าน และเดลิเวอรี่กลายเป็นพระเอกขึ้นมาในทันที แต่ก็ต้องเจอกับต้นทุนที่เพิ่มเกือบ 20% ด้วยเช่นกัน ขณะที่ ยังต้องขายในราคาเท่าเดิม

"ทุกๆ ธุรกิจ ไม่ใช่ว่าการทำเดลิเวอรี่แล้วจะได้กำไรเยอะ เพราะร้านจะต้องจ่ายค่า GP ให้กับผู้ให้บริการแอปฯ เดลิเวอรี่ทั้งหลาย ขณะที่ ลูกค้ายังต้องเสียค่าขนส่งอีก เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสซื้อกลับบ้านด้วยตัวเองน่าจะประหยัดกว่าอย่างน้อยมื้อละ 40-50 บาทเลยทีเดียว"


The Pizza Company เบอร์หนึ่ง เดอะแบกของไมเนอร์ เดือนเดียวโตถึง 22%

คุณประพัฒน์ กล่าวว่า ภาพรวมรายได้ในเครือหลังจากคลายล็อกเปิดร้านอาหารในเดือนกันยายนนี้ เท่ากับปีที่แล้ว โดยในแต่ละแบรนด์มีการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน

สำหรับแบรนด์ที่ทำยอดสูงสุด คือ "The Pizza Company" ซึ่งมียอดขายเติบโตถึง 22% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ "Burger King" ช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านเดลิเวอรี่และไดร์ฟทรู ยังถือว่าแข็งแรงมาก เติบโตอยู่ประมาณ 5% ซึ่ง 2 แบรนด์นี้เป็นตัวหลักที่คอยพยุงธุรกิจของบริษัทฯ ให้เดินหน้าต่อไปได้ค่อนข้างดี 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ The Pizza Company เติบโตได้ถึง 22% ไม่ได้มาจากการนั่งรับประทานในร้าน แต่โตจากเดลิเวอรี่ และสั่งกลับบ้าน ซึ่งเดลิเวอรี่มีทั้งจากการจัดส่งเองผ่านทางโทรศัพท์ 1112 โดยมีสัดส่วนมากถึง 60% และผ่านพาร์ทเนอร์ที่เป็นแอปพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่หลากหลายค่ายอีกราว 40% คุณประพัฒน์ ย้ำว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเรื่องการส่งเอง เพื่อบริหารข้อมูลของลูกค้า และการจัดส่งเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เป็นช่วงที่ทาง The Pizza Company จัดแคมเปญใหญ่ ซื้อ 1 แถม 1 ทำให้ยอดขายเดลิเวอรี่ดูเหมือนยังไม่ตกเท่าไร และกลับมาดีขึ้นด้วย ขณะที่ สัดส่วนการนั่งรับประทานในร้านก็โตขึ้นมาด้วย 

"แม้จะเปิดให้นั่งในร้านได้แล้ว แต่ช่องทางเดลิเวอรี่ยังคงเติบโตอยู่เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงบอกได้ว่าผู้บริโภคยังชื่นชอบกับการสั่งอาหารผ่านช่องทางเหล่านี้อยู่ จนกลายเป็นช่องทางการจำหน่ายอาหารที่แข็งแรงมากๆ ในธุรกิจอาหาร"  


สำหรับ The Pizza Company เป็นแบรนด์แรกในประเทศไทย ที่มีระบบเดลิเวอรี่มามากว่า 30 ปี จึงทำให้เดลิเวอรี่แข็งแกร่งจนถึงปัจจุบันนี้ และโชคดีที่ว่าก่อนโควิดทางบริษัทฯ ได้มีแพลตฟอร์มสั่งอาหารได้ทุกร้านในเครือ ร่วมทั้งเพื่อนๆ ในเครือเช่น S&P หรือ BreadTalk จึงเป็นส่วนเสริมที่ทำให้เดลิเวอร์ของร้านในเครือบริษัทฯ แข็งแกร่งมากขึ้น

ขณะที่ "Sizzler" แบรนด์ที่เจ็บตัวหนักในช่วงที่ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน เนื่องจากผู้บริโภคที่ชอบรับประทาน "สลัดบาร์" ชอบที่จะตักเองเลือกเองมากกว่าการรับประทานที่บ้าน หลังจากคลายล็อกดาวน์จึงทำให้ซิสเลอร์เป็นแบรนด์ที่พุ่งที่สุดสำหรับช่องทางนั่งในร้าน รวมทั้ง Swensen's การนั่งรับประทานไอศกรัมกับครอบครัวหรือเพื่อนก็กลับมาด้วย

นอกจากนี้ "Bonchon" แบรนด์น้องใหม่ มีอัตราการกลับมาค่อนข้างเยอะเช่นเดียวกัน 

โดยสัดส่วนของการนั่งรับประทานในร้านกลับมาราว 24% ของยอดรวมธุรกิจทั้งหมด ซึ่งควรจะมีตัวเลขอยู่ประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปี 2018 และ 2019 โดยตัวเลขยังคงต่างกันอยู่เกือบครึ่งที่หายไปจากช่วงเวลาปกติ

วิเคราะห์ปัจจัย เหตุใดคลายล็อก แต่ยอดขายนั่งในร้านยังไม่กลับมา 100%

แม้ ศบค.จะไฟเขียวอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหาร แต่ยังคงต้องถูกจำกัดจำนวนคนเหลือร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ คุณประพัฒน์ ระบุว่า บางแบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีการนั่งรับประทานในร้านเป็นหลัก อย่างเช่น Swensen's , Sizzler , Bonchon ซึ่งการนั่งรับประทานในร้านเป็นช่องทางหลักของแบรนด์เหล่านี้ ก็ยังกลับมาไม่เท่าเดิมในสิ่งที่คาดการณ์ไว้ของเดือนกันยายน ซึ่งการกลับมาไม่เป็นปกติ เท่าที่สังเกตมี 2 ประเด็นหลักๆ คือ

1.จำนวนเด็ก-เยาวชน ที่มาเดินห้างสรรพสินค้าน้อย อาจจะเป็นเพราะว่ายังเรียนออนไลน์กันอยู่ และน้องๆ ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ผู้ปกครองจึงมองว่ายังไม่ปลอดภัยที่จะมาเดินในห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป้าหมายหลักของแบรนด์ 3 แบรนด์ดังกล่าว ทั้ง Swensen's , Sizzler , Bonchon

2.จำนวนคนเดินห้างสรรพสินค้า ยังกลับมาไม่เท่าเดิม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมือง แนวเส้นทางรถไฟฟ้ายังกลับมาได้ไม่เท่าเดิม แต่ห้างสรรพสินค้านอกเมือง อย่างเช่น ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เมกา บางนา แฟชั่นไอส์แลนด์ จำนวนคนเดินห้างสรรพสินค้ามากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ใจกลางกรุงเทพฯ ยังไม่กลับมาเป็นปกติในบางแบรนด์

ไมเนอร์ฯ มั่นใจ ยอดขายนั่งในร้านกลับมาแน่นอน แม้คนชินเดลิเวอรี่

คุณประพัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคิดว่าผู้บริโภคเริ่มชินกับการสั่งอาหารไปกินที่บ้านหรือที่ทำงานแล้ว ทุกคนเปิดแอปฯ เป็น สั่งเป็น และทุกคนจ่ายเป็น ผูกบัตรเครดิตได้ จนกลายเป็นพฤติกรรมปกติ สามารถมีอาหารให้รับประทานอยู่ตลอดโดยที่ไม่ต้องออกนอกบ้าน

แม้แต่น้องใหม่อย่าง "The Coffee Club" และ "Coffee Journey" ก็พบว่ายอดโตมากในช่องทางเดลิเวอรี่ แสดงให้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคตั้งแต่เช้า เริ่มสั่งกาแฟ จนถึงมื้อเย็น ผู้บริโภคต่างใช้บริการเดลิเวอรี่เป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ส่วนอนาคตหลังจากนี้ การนั่งรับประทานอาหารในร้านจะกลับมาเหมือนที่เคยเป็นหรือไม่นั้น ในฐานะที่อยู่ในวงการธุรกิจอาหารมองว่า ยังคงกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ โดยแบ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ ได้แก่

- กลุ่มนักท่องเที่ยว โดยยังมีลูกค้าอีกครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ามา โดย 100% เป็นการนั่งรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งหากในอนาคตนักท่องเที่ยวกลับมา การนั่งรับประทานอาหารจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยว 100% แน่นอน

- กลุ่มออฟฟิส ครอบครัว เพื่อน จะทยอยกลับมาจากวัคซีนที่ฉีดไป ฉีดมากก็จะกลับมาเร็วขึ้น 

"มองไปถึงปีนี้คิดว่าสัดส่วนการนั่งรับประทานอาหารในร้านกลับมาแน่นอน ส่วนเดลิเวอรี่อาจจะแผ่วลง แต่คงไม่น่าจะลดลงไปมากกว่าช่วงเวลาก่อนโควิดแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่มั่นคงที่สุดอีกช่องทางหนึ่ง"

โจทย์ท้าทาย ดึงดูดลูกค้าอย่างไรให้กลับมานั่งในร้าน

ผู้บริหารไมเนอร์ ฟู้ด กล่าวว่า ในการทำธุรกิจอาหารนั้น ร้านปรับตัวมาโดยตลอด ทั้งรูปลักษณ์ของร้าน แอร์ฯ ต้องเย็น เพลงต้องเพราะ การบริการ เป็นเรื่องพื้นที่ฐานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่แล้ว ส่วนหลังจากโควิดจึงยิ่งต้องมุ่งเน้นว่าต้องทำอย่างไรให้ร้านดูดี ดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งเลย 

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อคนเริ่มคุ้นชินกับการสั่งเดลิเวอรี่แล้ว คนก็จะไม่เห็นความสำคัญของการเดินทางไปห้างสรรพสินค้า เพราะฉะนั้น จึงเป็นโจทย์ท้าทายของทุกๆ แบรนด์เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรที่จะนำเสนอสินค้าให้เห็นว่าการนั่งรับประทานในร้านดูดีกว่าการเดลิเวอรี่ 

ดังนั้น ทั้งสองเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้กลับมานั่งรับประทานอาหารที่ร้าน

นอกจากนี้ เรื่องคุณภาพและสุขอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน ที่ทุกๆ แบรนด์จะต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่าสะดวกและปลอดภัยในการมานั่งรับประทานที่ร้าน

"การนั่งรับประทานอาหารในร้านมีสเน่ห์มากกว่าเยอะ ในธุรกิจอาหารไม่มีที่ไหนที่รับประทานอาหารในร้านแล้วอร่อยมากกว่าที่บ้าน เนื่องจากเรื่องของความสดใหม่ รูปลักษณ์สวยงาม บรรยากาศ รวมทั้งช่วงเวลาของการอยู่ร่วมกันของครอบครัว กลุ่มเพื่อนนี่แหละที่จะทำให้การรับประทานอาหารในร้านแตกต่างจากที่บ้าน"

3 ข้อวอนรัฐ ขยายเคอร์ฟิว เร่งฉีดวัคซีน เปิดประเทศตามแผน

ท้ายที่สุดนี้ คุณประพัฒน์ ยังได้ฝากไปถึงรัฐบาลในมุมของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ไม่ใช่แค่เฉพาะในเครือไมเนอร์ฯ ดังนี้

1.อยากจะให้ขยายช่วงเวลาเคอร์ฟิว เนื่องจากคนไทยเป็นกลุ่มที่รับประทานอาหารค่อนข้างดึก ซึ่งหากขยายไปได้จะทำให้ธุรกิจกลับมาเร็วขึ้น

2.เร่งการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นตัวชี้วัดในธุรกิจให้กลับมาฟื้นได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร 

3.แผนเปิดประเทศอยากให้เกิดขึ้นตามแผน เนื่องจากธุรกิจในประเทศไทยหลายๆ ประเภทต้องพึ่งพากลุ่มลูกค้าต่างชาติ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยเช่นกัน


เรื่อง TNN ONLINE

ภาพ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ดส์ กรุ๊ป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง