รีเซต

พบไมโครพลาสติกปริมาณหนาแน่นสูงสุดที่ก้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

พบไมโครพลาสติกปริมาณหนาแน่นสูงสุดที่ก้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
บีบีซี ไทย
4 พฤษภาคม 2563 ( 14:57 )
190

 

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งนำโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของสหราชอาณาจักร รายงานว่าพบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในปริมาณที่มีความหนาแน่นสูงสุดเท่าที่เคยพบมา ในดินตะกอนก้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนบริเวณนอกชายฝั่งของประเทศอิตาลี

 

ชิ้นส่วนไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตรที่พบในครั้งนี้ มีจำนวนมากถึง 1.9 ล้านชิ้นต่อพื้นที่ก้นสมุทร 1 ตารางเมตร ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเส้นใยจากเสื้อผ้าและเศษใยสังเคราะห์จากสิ่งทอประเภทอื่น ๆ รวมทั้งชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วที่แตกตัวมาจากขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ตามกาลเวลา

 

 

จุดที่พบไมโครพลาสติกสะสมตัวในปริมาณหนาแน่นสูงสุดนั้น คือบริเวณแอ่งใต้ทะเล Tyrrhenian ซึ่งอยู่ระหว่างแผ่นดินใหญ่ของประเทศอิตาลี เกาะคอร์ซิกา และเกาะหลักของแคว้นปกครองตนเองซาร์ดีเนีย ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความกังวลว่ากระแสน้ำก้นสมุทรที่พัดพาเอาออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปหล่อเลี้ยงบรรดาสัตว์ใต้ทะเลลึก จะถูกไมโครพลาสติกปนเปื้อนในปริมาณสูงไปด้วย

 

ดร. เอียน เคน หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์บอกว่า ไมโครพลาสติกมักสะสมตัวหนาแน่นที่จุดใดจุดหนึ่งของพื้นมหาสมุทร เนื่องจากกระแสน้ำทรงพลังที่ก้นทะเลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "กองตะกอนพัดพา" (drift deposit) ซึ่งคล้ายกับเนินทรายใต้น้ำ

 

"กองตะกอนพวกนี้อาจรวมตัวเป็นแนวยาวได้หลายสิบกิโลเมตร และอาจหนาถึงหลายร้อยเมตร เป็นตะกอนที่สะสมตัวได้มากที่สุดประเภทหนึ่งบนโลกโดยมีตะกอนละเอียดเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะพบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในตะกอนชนิดนี้ด้วย" ดร. เคนกล่าว

 

BBC
ไมโครพลาสติกจำนวนมากได้แก่เส้นใยจากเสื้อผ้าและเศษใยสังเคราะห์จากสิ่งทออื่น ๆ

ทีมผู้วิจัยยังทดลองใช้แท็งก์น้ำขนาดใหญ่ จำลองกระบวนการที่ทราย โคลน และตะกอนต่าง ๆ ในหุบเหวและร่องลึกก้นสมุทร สามารถไหลไปอย่างทรงพลังได้เหมือนกับเหตุการณ์หิมะถล่ม ซึ่งการทดลองนี้ทำให้ทราบว่า กระบวนการดังกล่าวช่วยพัดพาเอาไมโครพลาสติกจากผิวน้ำให้จมลึกลงไปได้อีก และสามารถกระจายตัวออกไปได้ไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตรที่ก้นทะเล

 

งานวิจัยก่อนหน้านี้ประมาณการว่า ขยะพลาสติกราว 4 ล้านตัน - 12 ล้านตันที่แม่น้ำสายต่าง ๆ พัดพามาได้ไหลลงสู่มหาสมุทรในทุกปี โดยผู้คนมักให้ความสนใจกับแพขยะขนาดยักษ์กลางมหาสมุทรหรือตามแนวชายฝั่งที่สะดุดตา ซึ่งเป็นเพียง 1% ของขยะพลาสติกในทะเลทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 99% ซึ่งหายไปไม่พบร่องรอย นักวิทยาศาสตร์คาดว่าได้สลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋วที่จมลงสู่ก้นสมุทรในปริมาณมหาศาล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง