รีเซต

นาซาเตรียมปลดประจำการยานอินไซต์ (InSight) หลังภารกิจ 4 ปี บนดาวอังคาร

นาซาเตรียมปลดประจำการยานอินไซต์ (InSight) หลังภารกิจ 4 ปี บนดาวอังคาร
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2565 ( 00:51 )
104
นาซาเตรียมปลดประจำการยานอินไซต์ (InSight) หลังภารกิจ 4 ปี บนดาวอังคาร

นาซาเตรียมปลดประจำการยานอินไซต์ (InSight) ยานสำรวจดาวอังคารภายหลังจากปฏิบัติภารกิจบนผิวดาวอังคารมานานกว่า 4 ปี และต้องพบกับปัญหาฝุ่นบนผิวดาวอังคารเกาะติดแผงโซลาร์เซลล์จนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ยานอวกาศลำนี้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่คล้ายนักธรณีวิทยาสำรวจโครงสร้างภายในพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งจะมีความสำคัญในการทำความเข้าใจการกำเนิดของดาวอังคาร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยาบนพื้นผิวดาวนับจากอดีต


ฝุ่นบนผิวดาวอังคารเกาะติดแผงโซลาร์เซลล์ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 1 ใน 12 ของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 5,000 วัตต์ต่อชั่วโมง ของยานอินไซต์ (InSight) ด้วยลักษณะของยานสำรวจที่จอดอยู่กับที่ทำให้สามารถเปลี่ยนตำแหน่งของยานเพื่อหนีจากพายุหรือสลัดฝุ่นบนผิวดาวอังคารออกได้และปริมาณฝุ่นมีมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการคำนวณเอาไว้


ยานอินไซต์ (InSight) ลงจอดบนดาวอังคารบริเวณที่เรียกว่า Elysium Planitia ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2018 เพื่อทำภารกิจสำรวจทางด้านธรณีวิทยาวิวัฒนาการของดาวอังคาร ชั้นหินดาวอังคารโดยใช้เครื่องมือพิเศษ Heat Flow and Physical Properties Package (HP3) สามารถเจาะลงไปบนพื้นผิวดาวอังคารได้ 4.9 เมตร เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิบนชั้นผิวดาวอังคาร แกนกลางของดาวอังคาร โดยใช้เครื่องมือพิเศษ Rotation and Interior Structure Experiment (RISE) ตรวจจับการหมุนของดาวอังคาร


สำหรับความสำเร็จในการสำรวจดาวอังคาร ยานอินไซต์ (InSight) สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้มากกว่า 1,300 ครั้ง ตลอดระยะเวลาของภารกิจ 4 ปีที่ผ่านมา การค้นพบดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจกิจกรรมใต้พื้นผิวดาวอังคารได้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมายานอินไซต์ (InSight) ตรวจจับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระดับ 5 บนผิวดาวอังคารและนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดบนดาวอังคาร


ยานอินไซต์ (InSight) ยังคงปฏิบัติภารกิจบนผิวดาวอังคารต่อไปจนกว่าพลังงานจะหมดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลชุดสุดท้ายของภารกิจสำรวจ ทีมงานกล่าวเพิ่มเติมข้อมูลส่วนใหญ่จากภารกิจสำรวจจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ในการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการสำรวจดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ เช่น ดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ หรือภารกิจสำรวจดาวศุกร์ในอนาคต


ที่มาของข้อมูล space.com 

ที่มาของรูปภาพ nasa.gov

ข่าวที่เกี่ยวข้อง