รีเซต

เหตุใดหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์กว่าพันแห่ง มีชื่อเหมือนสตรีคนสำคัญของโลกเพียง 26 ราย

เหตุใดหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์กว่าพันแห่ง มีชื่อเหมือนสตรีคนสำคัญของโลกเพียง 26 ราย
ข่าวสด
5 มีนาคม 2564 ( 11:58 )
122

แอ่งหลุมมากมายบนพื้นผิวขรุขระของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นร่องรอยที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้าชนในอดีตนั้น มีถึง 1,577 แห่งที่ มีชื่อตั้งตามนักวิทยาศาสตร์และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ของโลก แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 26 แห่งเท่านั้น ที่ได้รับการขนานนามตามชื่อของสตรีที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

 

ช่างน่าสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะผู้หญิงที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้มีเพียงไม่ถึง 2 % ของผู้ที่มีชื่อเป็นสถานที่บนดวงจันทร์ทั้งหมด ซึ่งส่วนมากแล้วคนกลุ่มนี้จะเป็นชาย นอกจากนี้ แอ่งหลุมที่มีชื่อเป็นสตรียังมักจะตั้งอยู่ตรงบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกบดบังจนมองไม่เห็นจากพื้นโลกอีกด้วย

 

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายร้อยปี มีการตั้งชื่อแอ่งหลุมอุกกาบาตส่วนใหญ่ตามชื่อของเหล่านักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ รวมทั้งชื่อของเทพ เทพี และบุคคลในจินตนาการของเทพปกรณัมกรีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน หรือแม้แต่นักร้องดัง จอห์น เลนนอน ก็ยังมีแอ่งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ชื่อ Peace Crater ที่อุทิศให้กับเขาโดยเฉพาะ

 

Getty Images
แม้แต่นักร้องชื่อดังอย่าง จอห์น เลนนอน ก็ยังมีแอ่งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ที่อุทิศให้กับเขาโดยเฉพาะ

 

ใครคือผู้กำหนดกฎเกณฑ์การตั้งชื่อ ?

นับแต่ปี 1919 เป็นต้นมา สหภาพดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ (IAU) เป็นผู้อนุมัติและให้การรับรองชื่อของวัตถุอวกาศทั้งหมด แต่การตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์นั้น มีความเป็นมาย้อนไปได้ไกลถึงหลายร้อยปีก่อน

ในปี 1651 จิโอวานนี ริชชิโอลี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีได้เป็นคนแรกที่ริเริ่มตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ บนดวงจันทร์ หลังจากกาลิเลโอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจและวาดภาพภูมิประเทศบนดวงจันทร์เอาไว้ราว 40 ปีก่อนหน้านั้น

ริชชิโอลีได้ตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์ตามชื่อของมนุษย์ไว้ 147 แห่ง โดยในจำนวนนั้นมีชื่อของเขารวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เขาเลือกให้เกียรติยกย่องสตรีคนสำคัญในครั้งนี้เพียง 2 คน ได้แก่ "ไฮพาเทีย" (Hypatia) นักปราชญ์หญิงชาวกรีกในยุคต้นคริสตกาล และนักบุญแคเทอรีนแห่งอเล็กซานเดรีย ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

 

ใครคือผู้กำหนดกฎเกณฑ์การตั้งชื่อ ?

นับแต่ปี 1919 เป็นต้นมา สหภาพดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ (IAU) เป็นผู้อนุมัติและให้การรับรองชื่อของวัตถุอวกาศทั้งหมด แต่การตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์นั้น มีความเป็นมาย้อนไปได้ไกลถึงหลายร้อยปีก่อน

ในปี 1651 จิโอวานนี ริชชิโอลี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีได้เป็นคนแรกที่ริเริ่มตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ บนดวงจันทร์ หลังจากกาลิเลโอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจและวาดภาพภูมิประเทศบนดวงจันทร์เอาไว้ราว 40 ปีก่อนหน้านั้น

ริชชิโอลีได้ตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์ตามชื่อของมนุษย์ไว้ 147 แห่ง โดยในจำนวนนั้นมีชื่อของเขารวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เขาเลือกให้เกียรติยกย่องสตรีคนสำคัญในครั้งนี้เพียง 2 คน ได้แก่ "ไฮพาเทีย" (Hypatia) นักปราชญ์หญิงชาวกรีกในยุคต้นคริสตกาล และนักบุญแคเทอรีนแห่งอเล็กซานเดรีย ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

 

Getty Images
จีโอวานนี ริชชิโอลี ผู้ริเริ่มตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์คนแรก เลือกให้เกียรตินี้กับผู้หญิงเพียงสองคนเท่านั้น

 

เหตุใดแอ่งหลุมที่มีชื่อเป็นหญิงจึงมีน้อย ?

แน่นอนว่าชื่อของแอ่งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ รวมทั้งสถานที่สำคัญซึ่งถูกค้นพบบนดาวเคราะห์ดวงต่าง ๆ ในระบบสุริยะ ได้รับการขนานนามตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์และบุคคลสำคัญที่เป็นบุรุษเพศเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมานั้น ผู้หญิงถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงการศึกษาในระบบ รวมทั้งถูกห้ามฝึกฝนเรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์การตั้งชื่อวัตถุอวกาศของ IAU ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคแห่งการแข่งขันเพื่อสำรวจอวกาศและไปเหยียบดวงจันทร์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตนั้น ทำให้ชื่อของสตรีคนสำคัญมีโอกาสจะได้รับเลือกน้อยลงไปอีก

 

Getty Images
ดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์แทนผู้หญิงในหลายวัฒนธรรม จึงน่าแปลกใจว่าเหตุใดไม่ค่อยมีชื่อของผู้หญิงใช้เรียกสถานที่บนดวงจันทร์

 

เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สับสน สถานที่ต่าง ๆ บนดวงจันทร์จะได้รับการตั้งชื่อ ต่อเมื่อมีความจำเป็นทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ชื่อที่ตั้งจะต้องเป็นชื่อของนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจขั้วโลก หรือบุคคลสำคัญที่เสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ IAU ยังกำหนดว่า ให้ใช้ชื่อของผู้ชายเท่านั้นสำหรับการตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์ ส่วนชื่อของผู้หญิงนั้นจะสงวนไว้ใช้สำหรับภูมิประเทศบนดาวศุกร์โดยเฉพาะ

แม้ปัจจุบันกฎข้างต้นจะถูกล้มเลิกไปแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีแอ่งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ที่ตั้งชื่อตามสตรีคนสำคัญเพียง 7 แห่ง และแม้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจะได้ก่อตั้ง IAU มานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่ทุกวันนี้แอ่งหลุมที่มีชื่อของสตรีก็ยังมีไม่ถึง 2% ของทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนนี้แทบไม่ต่างจากตอนแรกก่อตั้ง IAU แม้แต่น้อย

 

Getty Images
โลกดูเหมือนดาวเคราะห์สีฟ้าขนาดใหญ่ เมื่อมองจากขอบฟ้าของดวงจันทร์

 

ชื่อสตรีบนดวงจันทร์นั้นสำคัญไฉน

ดร. มาริตซา โซโต วาสเควซ นักดาราศาสตร์หญิงชาวชิลี ผู้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกในชีวิตของเธอเมื่ออายุเพียง 25 ปี บอกว่า "แน่นอนว่าเรื่องนี้สำคัญมาก หากเราต้องการให้ผู้หญิงเข้าสู่แวดวงวิทยาศาสตร์มากขึ้น การที่ผู้อื่นยอมรับและมองเห็นความสำคัญของพวกเธอ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญมากที่สุด"

"เมื่อเด็กผู้หญิงเลือกสาขาวิชาที่ต้องการจะเรียน พวกเธอจะมองหาแบบอย่างอันโดดเด่นของเพศเดียวกันในวงการนั้นเสมอ หากไม่พบชื่อของผู้หญิงแนวหน้าในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เท่ากับส่งสารทางอ้อมไปฝังหัวพวกเธอว่า ผู้หญิงไม่ควรจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง"

สำหรับสตรีคนสำคัญของโลกบางราย ซึ่งชื่อของพวกเธอถูกนำไปตั้งเป็นชื่อแอ่งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ มีดังต่อไปนี้

 

Getty Images
วาเลนตินา เทเรชโควา

 

วาเลนตินา เทเรชโควา (1937 - ปัจจุบัน)

นักบินอวกาศหญิงชาวรัสเซียผู้นี้ เป็นสตรีคนแรกที่ได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อปี 1963 และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรตินำชื่อของเธอไปตั้งเป็นชื่อของหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์

ปัจจุบันเธอยังครองตำแหน่งผู้หญิงเพียงคนเดียวที่มีโอกาสบินเดี่ยวในห้วงอวกาศ โดยนั่งในแคปซูลอวกาศวอสต๊อก 6 ซึ่งโคจรรอบโลก 48 ครั้ง ในเวลาเกือบ 3 วันเต็ม

หลังจากภารกิจในครั้งนั้น เธอไม่ได้มีโอกาสกลับขึ้นสู่ห้วงอวกาศอีก แต่ผู้คนยังคงยกย่องเธอถึงการอุทิศตนเพื่อวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาของรัสเซีย

 

Getty Images
ไฮพาเทีย

 

ไฮพาเทีย (สิ้นชีพ ค.ศ. 415 )

เธอผู้นี้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักปรัชญาเชื้อสายกรีก เกิดในช่วงปีค.ศ. 370 - 350 ที่เมืองอเล็กซานเดรียของอียิปต์ ซึ่งขณะนั้นถูกผนวกเข้าเป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันออก

ไฮพาเทียได้รับการศึกษาที่ดีกว่าหญิงทั่วไปในยุคนั้นมาก เนื่องจากบิดาของเธอเป็นนักดาราศาสตร์และผู้บริหารหอสมุดแห่งอเล็กซานเดรียอันเลื่องชื่ออีกด้วย ทำให้ไฮพาเทียได้เรียนรู้จากตำรับตำราจำนวนมหาศาล จนสามารถเขียนตำราทางดาราศาสตร์ของตนเอง ซึ่งตำรานี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายจากผู้รู้ในยุคนั้น

น่าเสียดายว่าไฮพาเทียต้องสิ้นชีพไปก่อนเวลาอันควร ด้วยฝีมือของฝูงชนผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่เข้ามารุมทำร้าย เพียงเพราะเธอมีความขัดแย้งเรื่องเสรีภาพทางวิชาการกับบิชอปแห่งอเล็กซานเดรีย

แอ่งหลุมบนดวงจันทร์ที่มีชื่อเหมือนกับเธอ เป็นหลุมอุกกาบาตที่ตั้งชื่อตามสตรีเพียงไม่กี่แห่งที่ตั้งอยู่ในด้านสว่างของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นด้านที่หันหน้าเข้าหาโลก

 

Harvard College Observatory
แอนโทเนีย มอรี

 

แอนโทเนีย มอรี (1866 - 1952 )

นักดาราศาสตร์หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายโปรตุเกส เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม "มนุษย์คอมพิวเตอร์" ประจำหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เธอเป็นคนแรกที่ศึกษาระบบดาวคู่ประเภท spectral binary ซึ่งเป็นดาวสองดวงที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกัน จนแยกแยะได้ยากมากเมื่อมองด้วยตาเปล่าจากพื้นโลก ทั้งยังเป็นผู้วางระบบตรวจวัดการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าของดาวฤกษ์ ซึ่งนักดาราศาสตร์นานาชาติของ IAU ยังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้

 

Getty Images
กัลปนา ชาวลา

 

กัลปนา ชาวลา (1962-2003)

นักบินอวกาศหญิงเชื้อสายอินเดียคนแรกของโลก ผู้สนใจเทคโนโลยีด้านการบินอวกาศมาตั้งแต่ยังเล็ก กัลปนาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมการบินอวกาศในสหรัฐฯ ก่อนจะเข้าทำงานที่องค์การนาซา

ภารกิจแรกในเส้นทางอาชีพนักบินอวกาศของเธอ คือการเป็นวิศวกรผู้ควบคุมแขนกลบนกระสวยอวกาศโคลัมเบีย เมื่อปี 1997 แต่ในอีกหกปีต่อมากลับเกิดโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตเธอและลูกเรือคนอื่น ๆ บนกระสวยอวกาศลำนี้ในปี 2003 เนื่องจากมันระเบิดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ขณะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

 

Getty Images
แอนนี่ จีน อีสลีย์

 

แอนนี่ จีน อีสลีย์ (1933-2011)

เธอคือสตรีคนล่าสุดที่ได้รับเกียรตินำชื่อไปใช้เรียกขานแอ่งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2021 ที่ผ่านมา

อีสลีย์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งเติบโตขึ้นมาในยุคที่คนผิวดำถูกแบ่งแยกกีดกันอย่างหนัก แม้เป็นการยากที่เธอจะได้รับการศึกษาอย่างคนอเมริกันผิวขาว แต่อีสลีย์ก็พยายามขวนขวายจนสำเร็จการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ และได้เข้าทำงานเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ที่องค์การนาซา

ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่เธอทำงานที่นั่น อีสลีย์ได้เขียนรหัสคอมพิวเตอร์และพัฒนาระบบเครื่องยนต์ขับเคลื่อนต่าง ๆ ซึ่งวางรากฐานให้กับการสร้างเครื่องยนต์กระสวยอวกาศในเวลาต่อมา เธอยังเป็นผู้รณรงค์สนับสนุนให้สตรีและชนกลุ่มน้อยพยายามศึกษาเล่าเรียนและยึดอาชีพในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, คณิตศาสตร์) อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง