รีเซต

นักวิทยาศาสตร์จีนสร้างรอยสักบน "หมีน้ำ" ด้วยเทคโนโลยีระดับนาโน

นักวิทยาศาสตร์จีนสร้างรอยสักบน "หมีน้ำ" ด้วยเทคโนโลยีระดับนาโน
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2568 ( 13:31 )
14

หากจะลอง “สัก” สัตว์เล็กจิ๋วสักชนิด คงไม่มีตัวเลือกใดเหมาะไปกว่าทาร์ดิเกรด หรือ "หมีน้ำ" สิ่งมีชีวิตแปดขาผู้ขึ้นชื่อเรื่องความอึดทนต่อทุกสภาวะแวดล้อม โดยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสต์เลค (Westlake University) ประเทศจีน นำโดย ติง เจา (Ding Zhao) และหมิน ชิว (Min Qiu) ประสบความสำเร็จในการสร้าง “รอยสัก” ขนาดจิ๋วลงบนร่างกายของ "หมีน้ำ" ได้โดยไม่ทำลายชีวิตของมัน ซึ่งอาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในอนาคต


ทาร์ดิเกรด หรือที่บางครั้งเรียกว่า “หมีน้ำ” เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ยาวไม่เกินครึ่งมิลลิเมตร มีลักษณะตัวอ้วนกลมและขาสั้นแปดขา มีชื่อเสียงจากการเอาตัวรอดได้ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว ตั้งแต่ความเย็นจัด ร้อนจัด ความแห้งแล้ง ไปจนถึงสุญญากาศในอวกาศ ความแข็งแกร่งนี้ทำให้มันกลายเป็นตัวทดลองในหลายงานวิจัยล้ำยุค


ในการทดลอง นักวิทยาศาสตร์เริ่มจากการค่อย ๆ ดูดน้ำออกจากร่างกายทาร์ดิเกรดอย่างช้า ๆ เพื่อให้เข้าสู่สภาวะเคลื่อนไหวช้าหรือหยุดนิ่ง จากนั้นจึงนำวางลงบนแผ่นคาร์บอนคอมโพสิตที่ถูกทำให้เย็นลงถึง -226 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ -143 องศาเซลเซียส แล้วเคลือบด้วยของเหลวอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แอนิโซล (anisole) ซึ่งจะแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็งบาง ๆ บนผิวสัตว์

เมื่อลำแสงอิเล็กตรอนถูกยิงตรงไปยังจุดเฉพาะบนร่างของทาร์ดิเกรด แอนิโซลในบริเวณนั้นจะเกิดปฏิกิริยาและเปลี่ยนเป็นสารเคมีที่เข้ากันได้ทางชีวภาพ (Biocompatible compounds) ซึ่งจะเกาะติดกับผิวด้านนอกอย่างแน่นหนา จากนั้นเมื่อนำกลับมาสู่ภาวะปกติในสุญญากาศและเติมน้ำเข้าไป ทาร์ดิเกรดบางตัวจะฟื้นกลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง
ผลการทดลองพบว่า ประมาณ 40% ของทาร์ดิเกรดสามารถรอดชีวิตและกลับมาเคลื่อนไหวได้ โดยไม่แสดงสัญญาณว่ารอยประทับดังกล่าวส่งผลกระทบใด ๆ และลวดลายที่สร้างขึ้นยังคงติดทนนาน แม้ผ่านกระบวนการยืด แช่ตัวทำละลาย ล้าง หรืออบแห้ง

ดิง เจา ระบุว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ได้จำกัดแค่ทาร์ดิเกรด แต่สามารถประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ ได้ รวมถึงแบคทีเรีย และในอนาคต อาจนำไปสู่การสร้าง “ไซบอร์กจิ๋ว” ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเซ็นเซอร์ฝังอยู่บนตัว เพื่อใช้ในงานด้านการแพทย์ การแช่แข็งเพื่ออนุรักษ์ชีวภาพ หรือแม้แต่ภารกิจสำรวจนอกโลกในสาขาชีววิทยาดาราศาสตร์

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nano Letters โดยเปิดแนวทางใหม่ของการผสานเทคโนโลยีนาโนเข้ากับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วได้อย่างน่าทึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง