รีเซต

เจริญ วัดอักษร : 16 ปีแห่งการจากไปของหนุ่มชาวไร่ผู้กลายเป็นตำนานการต่อสู้ของประชาชน

เจริญ วัดอักษร : 16 ปีแห่งการจากไปของหนุ่มชาวไร่ผู้กลายเป็นตำนานการต่อสู้ของประชาชน
บีบีซี ไทย
21 มิถุนายน 2563 ( 10:26 )
234
1
เจริญ วัดอักษร : 16 ปีแห่งการจากไปของหนุ่มชาวไร่ผู้กลายเป็นตำนานการต่อสู้ของประชาชน

 

"อย่างมากก็แค่ตาย" และ "ไม่ตายก็ติดคุก" เป็นบางประโยคที่เจริญ วัดอักษร หนุ่มชาวไร่ใน ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่กลายมาเป็นแกนนำชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พูดกับกรณ์อุมา พงษ์น้อย ผู้เป็นภรรยา ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งเข้าสู่จุดล่อแหลมจนเขาและแกนนำชาวบ้านถูกขู่ฆ่าและได้รับ "คำเตือน" ให้ระวังตัวอยู่บ่อยครั้ง

 

"เจริญเจอทั้งสองอย่าง ทั้งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและถูกฆ่าตาย" กรณ์อุมาบอกกับบีบีซีไทยในปีที่ 16 ของการอยู่ลำพังหลังจากสามีคู่ทุกข์คู่ยากถูกมือปืนสังหารอย่างเหี้ยมโหดด้วยกระสุน 9 นัด และเสียชีวิตด้วยวัย 37 ปี ในคืนวันที่ 21 มิ.ย.2547

 

ชาวบ้านใน ต.บ่อนอก และ อ.บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ คัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูดและโรงไฟฟ้าบ่อนอกในช่วงปี 2540-2547 โดยมีเจริญเป็นแกนนำคนสำคัญ เขาไม่ได้เป็นเอ็นจีโอ ไม่มีประสบการณ์ในการชุมนุมประท้วง เป็นเพียงชาวบ้านคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นชุมชน ท้องทะเลและธรรมชาติถูกทำลายจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทเอกชนที่จะผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

การต่อสู้อย่างเข้มแข็งของชาวบ้านในนามของกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกและกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดกลายเป็นตำนานการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดและสร้างปรากฏการณ์หลายอย่างขึ้น โดยเฉพาะการทำให้ภาครัฐ รวมทั้งทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องเดินทางมารับฟังความเห็นชาวบ้านด้วยตัวเอง

 

ช่วงปี 2547 รัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่ง เจริญและชาวบ้านจึงเริ่มขยายการเคลื่อนไหวไปสู่การร้องเรียนเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะกว่า 900 ไร่

 

วันที่ 21 มิ.ย.2547 เจริญเดินทางด้วยรถทัวร์กลับจากการไปให้ข้อมูลเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะต่อกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่กรุงเทพฯ ทันทีที่ลงรถบริเวณสี่แยกบ่อนอก มือปืนที่ดักรออยู่ก็ลั่นไกใส่

 

เจริญเสียชีวิตตรงนั้น ไม่มีโอกาสได้รับรู้มติ ครม.ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาที่ให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

เจริญกลายเป็นนักต่อสู้-นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนอีกคนหนึ่งที่ต้องจบชีวิตลงหรือถูกทำให้หายไป ซึ่งในช่วงเวลานั้นและก่อนหน้านั้น มีผู้นำชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวหลายคนที่พบจุดจบเช่นเดียวกัน และทุกครั้งก็มักจะมีเสียงเรียกร้องให้เป็นการสูญเสียครั้งสุดท้าย

 

16 ปีผ่านไปหลังเหตุฆาตกรรมที่ริมถนนเพชรเกษม บีบีซีไทยสนทนากับผู้หญิง 3 คนที่ใกล้ชิดและร่วมต่อสู้กับเจริญ พวกเธอเห็นตรงกันว่าความตายของเจริญ ผู้นำชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิ์อีกหลายคนหลังจากนั้น ทำให้สรุปได้ว่า "ศพสุดท้าย" นั้นไม่มีอยู่จริง

 

"ไว้แกตายก่อนแล้วข้าจะทำให้ดู"

16 ปีผ่านไป ภาพที่เจริญนอนจมกองเลือดอยู่ริมถนนเพชรเกษมยังติดตากรณ์อุมา

"เราเข้าไปช้อนศรีษะเขาขึ้นมา แล้วก็นึกถึงสิ่งที่เขาเคยพูดกับเราว่า ถ้าโดนยิงอย่างเก่งก็เจ็บนัดแรกนัดเดียว จะยิงซ้ำอีกกี่นัดเขาก็ไม่เจ็บแล้ว" ภรรยาคู่ทุกคู่ยากเล่านาทีที่เธอแหวกกลุ่มคนที่มุงอยู่ริมถนนเข้าไปหาสามีด้วยเสียงสั่นเครือ

 

"ช่วงที่การต่อสู้เข้มข้นมาก ๆ เจริญชอบบ่นว่าเราไม่ช่วยเขาขึ้นปราศรัยนำมวลชน ไม่ช่วยให้สัมภาษณ์สื่อบ้างเลย เราก็พูดกับเขาเล่น ๆ ว่าเอาไว้แกตายก่อนแล้วข้าจะทำให้ดู...สุดท้ายก็ได้ทำจริง ๆ"

 

แม้ทั้งคู่จะคุยกันเรื่องความตายบ่อย ๆ และเตรียมใจเอาไว้บ้างเพราะได้รับทั้งคำขู่และคำเตือนบ่อย ๆ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ ทุกอย่างก็ไม่ง่ายสำหรับกรณ์อุมา ซึ่งขณะนั้นอายุ 33 ปี

 

สิ่งที่ยากที่สุดในความรู้สึกของเธอก็คือการต้องทนเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่จริงจังกับการหาตัวคนผิดมาลงโทษและยังมีทัศนะคติที่ไม่ดีต่อชาวบ้าน

"มันเหมือนเราถูกกระทำซ้ำ" กรณ์อุมาระบายความรู้สึกที่ยังคงคุกรุ่นอยู่แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน "หลังเกิดเหตุ เราได้ยินตำรวจในพื้นที่พูดถึงเจริญว่าตายเสียได้ก็ดี อยู่ไปก็กวนบ้านกวนเมือง ได้ฟังอย่างนี้ก็รู้เลยว่าจะหวังให้ตำรวจทำสำนวนคดีให้ดีคงไม่ได้"

 

เธอยิ่งเจ็บปวดและเครียดหนักเมื่อคดีเข้าสู่ศาล

"เราเจอทั้งอัยการและผู้พิพากษาที่มีทัศนคติที่ค่อนข้างแย่และมีอคติกับประชาชน ทุกครั้งที่ไปศาลเราจะเครียดมากจนบางครั้งต้องออกมาอาเจียน เพราะรู้สึกแย่ที่ต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นแบบนี้"

 

กรณ์อุมาซึ่งกลายมาเป็นแกนนำกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกแทนสามีผู้ล่วงลับบอกว่าสิ่งที่เธอและพวกชาวบ้านได้เรียนรู้จากการต่อสู้คดีเจริญคือได้รู้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยพึ่งพาไม่ได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เธอได้เข้าใจอย่างแท้จริงจากการตายของสามีคือความหมายของวลีที่ว่า "เปลี่ยนความแค้นให้เป็นพลัง" เพราะหลังเขาตายเธอก็นำชาวบ้านเคลื่อนไหวติดตามคดีและปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่เธอกับเจริญไม่มีลูกด้วยกัน กรณ์อุมาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสานต่อเจตนารมย์ของเจริญในการปกป้องชุมชนและทรัพยากรของตำบลบ่อนอก

 

กรณ์อุมาบอกว่าอยากให้สังคมจดจำเจริญว่าเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่ทนนิ่งเฉยกับความไม่ถูกต้องชอบธรรมไม่ได้ ต้องลุขึ้นมาต่อสู้ และแม้จะรู้ว่าเขาอาจถูก "เก็บ" ก็ยังคงมุ่งมั่นต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว

 

กรณ์อุมา ซึ่งปัจจุบันหารายได้ด้วยการขายอาหารทะเลแปรรูปและเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ริมทะเลบ่อนอกบอกว่าเธอรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อุ้มหายหรือสังหารนักต่อสู้คนแล้วคนเล่า และเข้าใจหัวอกของคนในครอบครัวที่จะต้องแบกรับกับเรื่องนี้ไม่ต่างจากเธอ

 

"รู้สึกแย่กับคนที่ทำ คุณมีสิทธิอะไร ทำไมต้องทำกับเขาขนาดนั้น แล้วก็คิดถึงครอบครัวเขา ที่ต้องมาเจอเหมือนเรา อย่างกรณีของบิลลี่ (แกนนำชาวกะเหรี่ยงใน จ.เพชรบุรี ที่ถูกฆาตกรรม) เราสงสารมึนอภรรยาเขามาก" กรณ์อุมากล่าวก่อนจะทิ้งท้ายว่าเธอไม่มีความหวังเลยว่าการสังหารบุคคลที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในด้านต่าง ๆ จะยุติลงในสังคมไทย

 

"ไม่มีหวังเลย...ตราบใดที่สังคมไทยยังมีความขัดแย้งระหว่างทุนและรัฐกับชาวบ้าน และอีกฝ่ายหนึ่งยังคิดว่าฆ่าปิดปากแล้วจะจบ"

 


 

"เจริญ วัดอักษร" ถูกยิงตาย ไม่มีใครต้องรับโทษ

หลังเจริญถูกยิงเสียชีวิตราว 2 เดือน อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 5 คนในความผิดฐานร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น จำเลยทั้ง 5 ได้แก่ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน-จำเลยที่ 1, นายประจวบ หินแก้ว-จำเลยที่ 2, นายธนู หินแก้ว-จำเลยที่ 3, นายมาโนช หินแก้ว สมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-จำเลยที่ 4 และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์-จำเลยที่ 5

 

นายเสน่ห์และนายประจวบรับสารภาพว่าเป็นมือปืนที่ยิงเจริญจนเสียชีวิตริมถนนเพชรเกษม อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ในคืนวันที่ 21 มิ.ย.2547 ตามคำสั่งของนายธนู แต่ระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองคนนี้ได้เสียชีวิตในเรือนจำจากอาการป่วยก่อนขึ้นเบิกความต่อศาลได้ไม่นาน ซึ่งกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกซึ่งติดตามคดีอย่างใกล้ชิดเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิต "อย่างมีเงื่อนงำ"

 

30 ธ.ค.2551 ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว โดยวินิจฉัยว่านายธนู ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ เป็นผู้จ้างวานให้นายเสน่ห์และนายประจวบยิงเจริญเนื่องจากไม่พอใจที่เจริญคัดค้านโรงไฟฟ้าซึ่งเขามีส่วนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ รวมทั้งเปิดโปงและกล่าวหาว่านายธนูเกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดินสาธารณะ ส่วนนายมาโนชและนายเจือ หินแก้ว ศาลยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

 

นายธนูได้รับการประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์ ขณะที่อัยการยื่นอุทธรณ์เช่นกัน โดยขอให้ศาลลงโทษนายมาโนชและนายเจือด้วย

16 มี.ค.2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องนายธนู และพิพากษายืนให้ยกฟ้องนายมาโนชและนายเจือ เพราะเห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอจะทำให้เชื่อว่าจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันจ้างวานฆ่าเจริญ

 

10 ก.ย.2558 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แต่นายมาโนช จำเลยที่ 4 เป็นคนเดียวที่มาศาล นายเจือ จำเลยที่ 5 ให้ทนายความนำใบรับรองแพทย์มาอ้างว่าป่วยและขอให้เลื่อนอ่านคำพิพากษา ส่วนนายธนู จำเลยที่ 3 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุผล ศาลเห็นควรให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไป 1 เดือน และออกหมายจับนายธนู

 

13 ธ.ค.2558 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีหลักฐานให้รับฟังได้ว่านายธนู นายมาโนชและนายเจือเป็นผู้จ้างวานฆ่าเจริญ และให้ถอนหมายจับนายธนู คดีถึงที่สุด จำเลย 2 คนตายในคุก อีก 3 คนศาลยกฟ้อง

 

2563 คนในพื้นที่รายงานว่าหลังคดีสิ้นสุดจำเลยที่ได้รับการยกฟ้องทั้ง 3 คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในชุมชนบ่อนอก แต่เมื่อไม่นานมานี้ นายมาโนชเสียชีวิตจากความเจ็บป่วย

 


 

"กระบวนการยุติธรรมไม่ทำหน้าที่"

เมื่อพูดถึงเจริญ จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดจะนึกถึงภาพของชายผิวคล้ำร่างผอมยืนถือไมโครโฟนบนรถบรรทุกที่ดัดแปลงเป็นเวทีเคลื่อนที่ เปล่งเสียงนำการเคลื่อนไหวของชาวบ้านอย่างมีพลัง

 

จินตนาในวัย 58 ปีคิดว่าถ้าเจริญยังอยู่เขาคงตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชนอย่างเข้มข้น

จินตนากับเจริญต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าเคียงบ่าเคียงไหลกันมา จินตนาอยู่บ้านกรูด ส่วนเจริญอยู่บ่อนอก ซึ่งชาวบ้านในสองพื้นที่นี้รวมพลังกันคัดค้านโรงไฟฟ้าจนสำเร็จ

 

"เวลาที่ชาวบ้านชุมนุมกันหรือเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ เราไปกันเป็น 10-20 คันรถ เจริญจะเป็นคนคุมไมค์ที่ 1 บนหลังคารถ การคุมมวลชนเยอะขนาดนี้เป็นเรื่องยากมากโดยเฉพาะสำหรับพวกเราที่เป็นชาวบ้านธรรมดาไม่เคยทำเรื่องพวกนี้มาก่อน แต่เจริญเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีและมีพลังมาก ๆ เขาเป็นผู้นำชาวบ้านที่ควบคุมมวลชนจำนวนมากได้ดีที่สุด สั่งเคลื่อนขบวน ดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านได้ดีที่สุด เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศเลย ณ เวลานั้น คิดว่ามีเขาคนเดียวที่ทำได้แบบนี้" จินตนารำลึกถึงเพื่อนรุ่นน้อง

 

จินตนาบอกว่าในการต่อสู้ช่วงนั้น เธอเองก็ถูกข่มขู่คุกคามและถูกแจ้งความดำเนินคดีเหมือนกับเจริญ

"แต่เราโชคดีที่ไม่ตาย" จินตนาต้องต่อสู้คดีมาอีกหลายปีหลังจากได้รับ "ชัยชนะ" ในการต่อสู้ และมีคดีหนึ่งที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญาเมื่อปี 2554 ทำให้เธอต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำประมาณ 2 เดือนก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ

 

จินตนามีความเห็นตรงกับกรณ์อุมาว่าลำพังเจริญถูกฆ่าตายนั้นก็เป็นเรื่องเศร้ามากพออยู่แล้ว แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมหลังจากนั้นกลับน่าเศร้ายิ่งกว่า ซึ่งเธอมองว่าไม่ได้เพียงส่งผลให้คนสั่งฆ่าเจริญต้องลอยนวลเท่านั้น แต่การที่กระบวนการยุติธรรมนำคนก่อเหตุมาลงโทษไม่ได้ยังทำให้เหตุการณ์อุ้ม-ฆ่าผู้นำชาวบ้านและนักต่อสู้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

"เราสะเทือนใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวการอุ้มฆ่า ไม่ว่าคนนั้นจะออกมาต่อสู้เรื่องอะไร ที่มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ คิดว่าเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำหน้าที่ ตั้งแต่ต้นทางคือการทำสำนวนไปจนถึงกระบวนการพิจารณาคดีในศาล ถ้าคุณทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่มองประชาชนว่าเป็นศัตรู เป็นพวกขัดขวางการพัฒนา ก็จะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น"

 

"นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล ไม่มีรัฐบาลไหนดีกว่ากัน ไม่อย่างนั้นไม่มีชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนถูกฆ่าตายมาตั้งแต่ 40-50 ปีที่แล้วหรอก"

 

ทุกวันนี้ จินตนายังคงประกอบอาชีพค้าขายควบคู่ไปกับการเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการและนโยบายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จนในวันนี้เธอค่อนข้างมั่นใจว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ อ.บ้านกรูด "ปลอดภัย" ในระดับหนึ่งแล้ว

 

ศพแล้วศพเล่า

สุนีย์ ไชยรส เป็นอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ชุดแรกที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่การต่อสู้ของชาวบ้านกรูด-บ่อนอกกำลังเข้มข้น

เธอจำได้ว่าพบเจริญครั้งแรกตอนที่เขานำชาวบ้านมายื่นหนังสื่อต่อ กสม.เพื่อให้ตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า นับจากนั้นสุนีย์และกสม. ก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำข้อเสนอและรายงานออกมาหลายฉบับ จนกลายเป็นคนคุ้นเคยของเจริญและชาวบ้าน

 

"เวลานึกถึงเขาจะเห็นภาพเขามาพร้อมกับชาวบ้านเป็นขบวนใหญ่ เจริญคือการต่อสู้ของชาวบ้าน เขาเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่สามารถรวมพลังประชาชนและการสนับสนุนจากหลายฝ่ายได้อย่างน่าทึ่ง" อดีต กสม. กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อเจริญ

 

"เขาเป็นคนที่เข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ แล้วเขาก็สู้กันอย่างเอาจริงเอาจัง แม่นยำในข้อมูล ประเด็นชัดเจนและไม่ยอมแพ้ เขาเจออุปสรรคมากมาย แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ จนกระทั่งถึงวันที่เขาเสียชีวิต"

 

สุนีย์เป็น กสม.อยู่นาน 7 ปีก่อนจะพ้นตำแหน่งในปี 2552 เธอบอกอย่างเศร้าใจว่าต้องพบกับเรื่องราวการอุ้ม-ฆ่าผู้นำชุมชนและนักต่อสู้หลายต่อหลายคน

"โดยส่วนตัวเจอเรื่องราวแบบนี้มาเยอะพอสมควร ชาวบ้านที่ทำงานด้วยกันถูกอุ้มหายหรือสังหารมาหลายคน ส่วนใหญ่เมื่อถูกคุกคามหรือฆ่าแล้วก็มักจะจับคนก่อเหตุไม่ได้หรือจับได้ก็หลุดในชั้นศาล นอกจากคนที่ถูกอุ้ม-ฆ่าแล้ว ก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง หลายคนต้องติดคุก"

 

"มันเศร้านะที่เราต้องเจอคนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เยอะมาก ยังไม่นับคนที่ถูกจับดำเนินคดีอีก แล้วก็ยิ่งเศร้าที่แทบจับผู้ก่อเหตุไม่ได้เลย" อดีต กสม.วัย 66 ปีซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว

 

"แต่สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจคือชาวบ้านไม่ยุติการต่อสู้ คนก่อเหตุคิดว่าฆ่าคน ๆ หนึ่งแล้วทุกอย่างจะจบ แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น บทเรียนสำคัญที่สุดจากการเสียชีวิตของคนเหล่านี้ก็คือ แม้เขาจะตายไปแต่การต่อสู้ของคนที่ยังอยู่จะดำเนินต่อไป"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง