รีเซต

“คนเก็บขยะ-พนง.ทำความสะอาด” อาชีพเสี่ยงโควิด-19 ที่ไม่มีเขาเราจะอยู่ยังไง

“คนเก็บขยะ-พนง.ทำความสะอาด” อาชีพเสี่ยงโควิด-19 ที่ไม่มีเขาเราจะอยู่ยังไง
Ingonn
20 พฤษภาคม 2564 ( 18:57 )
453
“คนเก็บขยะ-พนง.ทำความสะอาด” อาชีพเสี่ยงโควิด-19 ที่ไม่มีเขาเราจะอยู่ยังไง

พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาด หรือแม่บ้าน ล้วนเป็นอาชีพเสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โรคโควิดยังคงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเช่นทุกวันนี้ โดยกรมอนามัยได้เปิดเผยว่า ประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อ ไม่ถูกวิธี ไม่จัดเก็บมิดชิดตามมาตรการที่กำหนดทำให้คนที่ทำอาชีพเหล่านี้ เสี่ยงติดโควิดเพราะการสัมผัสขยะจากที่พวกเราทิ้ง

 

 

รู้หรือไม่ประเทศไทยต้องเผชิญขยะมูลฝอยที่มีปีละกว่า 27.8 ล้านตัน คนหนึ่งคนสามารถสร้างขยะได้วันละ 1.13 กิโลกรัม และยิ่งไปกว่านั้นคือขยะติดเชื้อโควิด-19 สูงมากถึง 20 ตันต่อวัน เมื่อปริมาณมากขนาดนี้ พนักงานเก็บขยะจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัย

 

 

 

 

 

สรุปปริมาณขยะติดเชื้อ


จากการสำรวจพบว่าขยะติดเชื้อโควิด-19 พบมากในโรงพยาบาลสนาม-สถานที่กักตัว ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ปริมาณขยะติดเชื้อโควิดเฉลี่ยอยู่ที่ 22.9 ตันต่อวัน เพราะยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังโชคดีที่การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกเขตที่พบผู้ติดเชื้อ

 


“เฉพาะขยะติดเชื้อโควิดเก็บได้เฉลี่ย 12 ตันต่อวัน เฉพาะเมษายนทั้งเดือน 14.86 ต้นต่อวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 3 ตัน และพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ตันต่อวัน เมื่อวันที่  11 พฤษภาคม อยู่ที่ 22.9 ตันต่อวัน เพราะยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกเขตที่พบผู้ติดเชื้อ”

 

 

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า ขยะติดเชื้อที่เก็บทุกวันไม่ได้กระจายอยู่ตามพื้นที่เขตที่พบผู้ติดเชื้อโควิด เนื่องจากเมื่อพบผู้ป่วยจะมีการส่งตัวไปรักษา จึงทำให้ขยะติดเชื้อโควิดที่เก็บจะไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลทางเลือก Hospitel และสถานที่สำหรับผู้กักตัวเป็นหลัก โดยทางกทม.ได้ร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของ กทม.กำจัดขยะด้วยวิธีการเผา และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยการจัดตั้งถังขยะสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อพร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ 1,000 จุด 

 

 

จากการเก็บสถิติปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยในกรุงเทพฯ ค่าเฉลี่ยแต่ละปีจะลดลง ล่าสุดปี 2564 ผลการจัดเก็บ 7 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2563 - เมษายน 2564) ยอดรวมอยู่ที่ 1,834,812.68 ตัน  เฉพาะเดือนเมษายน 8,881 ตัน จะเห็นได้ว่า เฉพาะหน้ากากอนามัยก็หลายพันตันแล้ว หากประชาชนทิ้งขยะติดเชื้อโควิด หรือหน้ากากอนามัยถูกต้อง ด้วยการใส่ถุงปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า หน้ากากอนามัย ก็จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลืออาชีพพนักงานเก็บขยะ และพนักงานทำความสะอาดได้

 

 

 

ความเสี่ยงที่ต้องเจอ


โรคโควิด-19 นี้สามารถติดต่อทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จึงอาจมีการปนเปื้อนในมูลฝอยจากผู้ป่วยหรือผู้ได้รับเชื้อได้ นอกจากนี้ห้องน้ำก็เป็นอีกแหล่งที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้เช่นเดียวกันจากการที่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อใช้งาน พนักงานเก็บขยะ หรือพนักงานทำความสะอาดจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากที่สุด

 

 

 

ชุดอุปกรณ์ป้องกันสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะมูลฝอย และพนักงานทำความสะอาด 

 

1.หน้ากากผ้า หรือหน้ากากปิดปากและจมูก


2.ถุงมือยางหนา


3.ผ้ายางกันเปื้อน


4.รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง


5.แว่นป้องกันตา


6.หมวกคลุมผม

 

 

 


คำแนะนำสำหรับพนักงานเก็บขยะ

 

ก่อนการปฏิบัติงาน


1.กรณีผู้ปฏิบัติงานมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงาน ให้แจ้งหัวหน้างานและพบแพทย์ทันที


2.สวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม

 

 

ระหว่างปฏิบัติงาน


1.ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เลือกใช้อุปกรณ์เก็บขยะที่มีด้ามจับ เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับขยะมูลฝอย


2.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังสัมผัสขยะมูลฝอยหรือสิ่งสกปรก และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น


3.หากถุงมือชำรุดเสียหายมีรอยรั่วให้เปลี่ยนถุงมือคู่ใหม่


4.งดพูดคุยระหว่างปฏิบัติงาน

 

 

หลังจากปฏิบัติงาน 


ให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และชำระล้างร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนออกจากสถานที่ปฏิบัติงาน

 

 


คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป

1.รับรู้และตระหนักถึงการจัดการมูลฝอยที่ถูกต้อง มีส่วนช่วยป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้อื่นและชุมชน


2.จัดเตรียมภาชนะรองรับหรือถุงขยะให้เพียงพอ แยกตามประเภทมูลฝอย และสำหรับประชาชนทั่วไปให้คัดแยกมูลฝอยในครัวเรือนเป็น 3 ประเภท ดังนี้

 


- มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมนำไปทิ้งลงถังที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป


- มูลฝอยรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ก่อนและรอจัดการในภายหลัง


- มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น ภาชนะบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับ เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป


นำมูลฝอยแต่ละประเภทไปทิ้งในจุดรวบรวมมูลฝอยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้ หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

 

3.กรณีมีผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน ให้แยกจัดการมูลฝอยจากครัวเรือน โดยดำเนินการดังนี้

 


- มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ขวด เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่น และนำไปทิ้งลงในถังมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป


- มูลฝอยประเภทปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น โดยถุงขยะใบแรกที่บรรจมูลฝอยแล้วให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นอีกครั้ง นำไปทิ้งรวมกับมูลฝอยทั่วไปหรือเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด


ทั้งนี้ให้นำมูลฝอยแต่ละประเภทไปทิ้งในจุดรวบรวมมูลฝอยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 


4.ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที


5.สอดส่อง แนะนำบุคคลในครอบครัวและเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีการคัดแยกมูลฝอยหรือการปฏิบัติที่ถูกต้องหากพบว่ามีการจัดการที่ไม่ถูกต้องอาจใช้กลไกของชุมชน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

 

 

การคัดแยกขยะธรรมดาและขยะติดเชื้อเป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งเพิ่มประโยชน์ในการแปรรูปขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการคัดกรองเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงได้ ซึ่งภาครัฐต้องสร้างระบบการจัดการเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ว่าหากแยกขยะแล้วจะไม่นำกลับไปเทและฝังกลบรวมกันเช่นที่ผ่านมา ได้แก่ การแจกถุงขยะรีไซเคิลตามบ้านและรวบรวมเก็บบางวัน มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิลในชุมชน เป็นต้น

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , มติชน

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง