รีเซต

ครบหมื่นรายชื่อแล้ว จ่อชงกม.บำนาญ เข้าสภาฯ กลางธ.ค.นี้

ครบหมื่นรายชื่อแล้ว จ่อชงกม.บำนาญ เข้าสภาฯ กลางธ.ค.นี้
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2566 ( 22:24 )
77
ครบหมื่นรายชื่อแล้ว จ่อชงกม.บำนาญ เข้าสภาฯ กลางธ.ค.นี้

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบรับร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจึงเดินหน้าล่ารายชื่อประชาชนอย่างน้อยจำนวนหนึ่งหมื่นรายชื่อ เพื่อผลักดันกฎหมายในการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป


เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้จัดรายการถ่ายทอดสดในประเด็น “แก่อย่างมีคุณภาพ บำนาญถ้วนหน้าคือคำตอบ” ผ่านรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค และ ยูทูบ tccthailand ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566โดยมีผู้ร่วมผลักดันกฎหมายดังกล่าวและนักวิชาการเข้าร่วมรายการ

 

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ WE FAIR กล่าวถึงเนื้อหาในร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการปรับปรุงและแก้ไขจากร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุฉบับเดิม โดยกฎหมายนี้จะแก้จากสงเคาะห์เป็นถ้วนหน้ามีหลักการพื้นฐานสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. แนวคิดการทำเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแนวคิดสงเคราะห์ ที่มีการจ่ายเบี้ยยังชีพมาตั้งแต่ปี 2535 และเริ่มจ่ายในปี 2536 โดยจะเปลี่ยนจากแบบสงเคราะห์เป็นแบบสวัสดิการถ้วนหน้า 2. เมื่ออายุครบ 60 ปี ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการบำนาญ 3. ต้องจัดสวัสดิการให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในอัตราไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คือ 3,000 บาท และ 4. จัดตั้งสำนักงานกองทุนผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ธุรการและวิชาการให้กับกองทุน และกำหนดวิธีการบริหารจัดการกองทุนผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ



“รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังขาดนโยบายในเรื่องบำนาญ ขณะที่มองว่าการให้เงินสวัสดิการในระบบบำนาญถ้วนหน้าสามารถสร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจและทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติได้ ที่สำคัญคือทำให้ประเทศไทยเข้าถึงสังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วย” นายนิติรัตน์ กล่าว


นอกจากนี้ นายนิติรัตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงรายชื่อผ่านออนไลน์ 5,000 กว่าและเข้าลงชื่อบนเอกสารสนับสนุนอีก 5,000 กว่ารายชื่อ ซึ่งถือว่าครบหมื่นรายชื่อแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เครือข่ายรัฐสวัสดิการฯ ยังจำเป็นต้องหารายชื่อให้ได้มากเนื่องจากประสบการณ์ในเสนอชื่อผลักดันกฎหมายในปี 2562 ซึ่งเสนอไป 14,000 รายชื่อ พบว่าในกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์มีรายชื่อตกหล่น 1,000 รายชื่อจึงมีการล่ารายชื่อเพิ่มเผื่อเอาไว้ ทั้งนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมและและรอสภาผู้แทนราษฎร เปิดประชุมในสมัยที่สอง คือ วันที่ 12 ธันวาคม 2566 จากนั้นเครือข่ายรัฐสวัสดิการฯ จะยื่นรายชื่อในช่วงวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2566


ด้าน นางหนูเกณ อินทจันทร์ ชาวชุมชนท่าเรือคลองเตย ผู้ร่วมผลักดันให้มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุในชุมชนคลองเตยที่มีอายุ 72 ปียังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีลูกหลานดูแล ถ้ารัฐบาลจัดสวัสดิการ 3,000 บาท จะเป็นรายได้ที่ช่วยแบ่งเบาและสามารถนำมาบริหารจัดการซื้ออาหารที่จำเป็นให้เพียงพอในการใช้ชีวิตได้ รวมทั้งรัฐต้องจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการตกหล่น เนื่องจากคนที่ตกหล่นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนยากจน นอกจากนี้ต้องการให้รัฐจ่ายสวัสดิการแบบบำนาญมากกว่าแบบเบี้ยยังชีพ เนื่องจากถ้าเป็นแบบเบี้ยยังชีพ รัฐบาลสามารถยกเลิกได้หากไม่มีงบประมาณ แต่หากจัดเป็นระบบบำนาญที่มีกฎหมายรองรับรัฐบาลจะยกเลิกได้ยากกว่า


“เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2566 รัฐพยายามตัดเบี้ยยังชีพ และให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งมีประมาณ 5 ล้านกว่าคน แต่ผู้สูงอายุทั่วประเทศไทย มีประมาณ 12 ล้านคน เราไม่เห็นด้วยเลยเพราะผู้สูงอายุในวัยหนุ่มสาว เขาสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทั้งการได้จ่ายภาษีทางตรง และเสียภาษีทางอ้อมในรูปแบบการซื้อของ ดังนั้นจึงอยากได้บำนาญเป็นหลักประกันในวัยที่สูงอายุบ้าง” นางหนูเกณ กล่าว



ขณะที่ ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณในการจัดสวัสดิการบำนาญว่า จากงานวิจัยพบว่าแหล่งที่มาของรายได้จากภาษีจะทำให้เกิดความยั่งยืน โดยอาจเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นในปี 2562 ที่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก ร้อยละ 8  เป็นร้อยละ 10 โดยใช้วิธีเพิ่มภาษีในสินค้าฟุ่มเฟื่อยและทยอยปรับขึ้นในระยะเวลา 1 - 3 ปี ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อลดแรงต้านในการเพิ่มภาษีได้เช่นกัน


“การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ในญี่ปุ่น ไม่ถือว่าเยอะมาก เพราะปัจจุบันฐานภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 15 หากประเทศไทยจัดสวัสดิการบำนาญ 3,000 บาทแบบถ้วนหน้าให้ผู้สูงอายุจำนวน 12 - 13 ล้านคน รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และหากทยอยเพิ่มภาษีเพียงปีละร้อยละ 1 รัฐจะมีรายได้ถึง 7 หมื่น - 1 แสนล้านบาทและมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาจัดสรรสวัสดิการได้” ดร.กติกา


ดร.กติกา ยังพบว่าหากรัฐจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุทุกคนด้วยเงิน 4.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี จะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 7 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.17 จึงเป็นสิ่งที่มีความชัดเจนว่าการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการให้ผู้สูงอายุมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจถึง 5 รอบ ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชาติได้ด้วยและยังไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ


ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนกฎหมายบำนาญแห่งชาติเพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าหากผู้สูงอายุยังคงได้รับเบี้ยยังชีพจำนวน 600 -700 บาทก็จะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนดำเนินนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนดำเนินนโยบายนี้ เพราะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการของประเทศ



“การทำให้เกิดบำนาญแห่งชาติต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของนักการเมือง และอยากเห็นรัฐบาลสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ และอยากให้ทุกรัฐบาลควรกระชับการใช้งบประมาณและทำให้เกิดระบบสวัสดิการประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” นางสาวสารี กล่าว


ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการลงชื่อเสนอกฎหมาย ได้ตั้งแต่วันนี้ – 10 ธันวาคม 2566 ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ‘ช่องทางออนไลน์’ ที่เว็บไซต์ https://pension-4all.com หรือ เข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มแบบกระดาษ โดยดาวน์โหลดที่ https://shorturl.asia/KnmXQ หรือ https://shorturl.asia/qWwDS จากนั้นส่งไปรษณีย์ไปที่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 48/282 ซ.รามคำแหง 104 ถ.รามคำแหง แขวง/เขต สะพานสูง กรุงเทพฯ 10240


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง