รีเซต

พันธุกรรมจากมนุษย์ยุคหิน อาจเป็นสาเหตุที่บางคนตื่นเช้า

พันธุกรรมจากมนุษย์ยุคหิน อาจเป็นสาเหตุที่บางคนตื่นเช้า
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2566 ( 17:44 )
68
พันธุกรรมจากมนุษย์ยุคหิน อาจเป็นสาเหตุที่บางคนตื่นเช้า

หากใครเป็นคนที่ตื่นเช้ามาก ๆ บางทีอาจได้รับผลมาจากสารพันธุกรรมของมนุษย์ยุคหินโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิวัฒนาการและชีววิทยาของจีโนม (Genome Biology and Evolution) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2023 ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล รวมถึงการศึกษานี้ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งสู่ความเข้าใจว่าสารพันธุกรรมจากมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นจะส่งผลต่อมนุษย์ยุคใหม่อย่างไร


โฮโมซาเปียนส์มีต้นกำเนิดย้อนกลับไปเมื่อ 300,000 ปีก่อน ลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด หรือความสูงจากระดับน้ำทะเลของถิ่นที่อยู่อาศัย 


ประมาณ 70,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ยุคแรก ๆ รวมถึงเดนิโซแวนและนีแอนเดอร์ทัล ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ยูเรเชียนยุคใหม่เริ่มอพยพออกจากแอฟริกาทางเหนือไปยังยุโรปและเอเชีย ที่นี่พวกเขาได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งอุณหภูมิสูงขึ้น และแสงสว่างมากขึ้น ดังนั้น พันธุกรรมก็จะมีการแปรเปลี่ยนไปจากกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา 


หลังจากนั้นเมื่อประมาณ 50,000 ปีก่อน โฮโมซาเปียนส์เริ่มผสมพันธุ์กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล มันก็ทำให้เกิดการส่งต่อลักษณะทางพันธุกรรมนี้ ทั้งนี้จีโนมยูเรเชียนในปัจจุบันได้มาจากลักษณะทางพันธุกรรมจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งส่งผลต่อร่างกายมนุษย์หลายอย่าง เช่น รูปร่างจมูก ความต้านทานต่อภูมิคุ้มกัน การสร้างเม็ดสีผิวหนัง ฯลฯ


นักวิจัยได้วินิจฉัยยีนประมาณ 200 ยีน ที่เกี่ยวข้องกับการที่แสงและอุณหภูมิส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ และวินิจฉัยยีนอีกประมาณ 20 ยีนที่ส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตภายในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งผลปรากฏว่ายีนเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกัน จากนั้นนักวิจัยได้ดูข้อมูลจาก ยูเค แบงค์ (UK Bank ฐานข้อมูลชีวการแพทย์ขนาดใหญ่และทรัพยากรการวิจัยที่ก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักร) และพบว่ายีนที่ส่งต่อมาจากนีแอนเดอร์ทัลนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมการนอนหลับของมนุษย์ยุคใหม่ ปัจจัยอย่างแสงแดด จะทำให้สามารถรับรู้สัญญาณว่าถึงเวลาเข้านอนหรือควรตื่นได้แล้ว และอัตราการตื่นนอนที่เพิ่มขึ้นนี้ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อวิวัฒนาการ อย่างเช่น บรรพบุรุษของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณละติจูดสูง มันก็จะช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล


การศึกษาพันธุกรรมที่ทำให้เราบางคนตื่นเช้าหรือบางคนชอบเวลากลางคืนเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีชื่อสมมติฐานของเซนติเนล (Sentinel hypothesis) ซึ่งบอกว่าพฤติกรรมที่บางคนหลับและบางคนตื่นปะปนกันในกลุ่มประชากรจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต และจำเป็นที่จะต้องรักษาคุณลักษณะแบบนี้ไว้ในวิวัฒนาการระยะยาวเพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดของมนุษย์


ในการศึกษาหน้า นักวิจัยวางแผนที่จะศึกษาว่า พันธุกรรมจากนีแอนเดอร์ทัล ส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตในระดับเซลล์หรือไม่ เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบได้เร็วขึ้น รวมถึงยังต้องการศึกษาว่ายีนส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน การควบคุมอุณหภูมิ และระบบการเผาผลาญหรือไม่ อย่างไร ซึ่งก็คงต้องติดตามในอนาคต


ที่มาข้อมูล Popsci

ที่มารูปภาพ Freepik

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง