รีเซต

จีนล้ำอีกแล้ว ! เผยความคืบหน้าแท่นผลิตพลังงานไฟฟ้าลอยน้ำ ติดตั้งกังหันลมคู่ ผลิตไฟฟ้าเยอะที่สุดในโลก

จีนล้ำอีกแล้ว ! เผยความคืบหน้าแท่นผลิตพลังงานไฟฟ้าลอยน้ำ ติดตั้งกังหันลมคู่ ผลิตไฟฟ้าเยอะที่สุดในโลก
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2567 ( 00:11 )
71
จีนล้ำอีกแล้ว ! เผยความคืบหน้าแท่นผลิตพลังงานไฟฟ้าลอยน้ำ ติดตั้งกังหันลมคู่ ผลิตไฟฟ้าเยอะที่สุดในโลก

บริษัท หมิงหยาง สมาร์ต เอเนอร์จี (Mingyang Smart Energy) ผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่สัญชาติจีน ได้เผยภาพความคืบหน้าของแท่นลอยน้ำที่มีชื่อว่าโอเชียนเอ็กซ์ (OceanX) ซึ่งสามารถรองรับใบพัดกังหันได้ 2 ตัว เมื่อทั้งสองใบพัดทำงานพร้อมกัน จะกลายเป็นแพลตฟอร์มกังหันลมลอยน้ำที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เยอะที่สุดในโลก ตามคำกล่าวอ้างของบริษัท


โดย OceanX จะเป็นแท่นลอยน้ำขนาดประมาณสนามฟุตบอล 9 สนาม ฐานรับแยกออกเป็น 3 ส่วนเพื่อกระจายน้ำหนัก จุดกึ่งกลางเป็นหอคอยที่ยกขึ้นมา จากนั้นจะแยกออกเป็น 2 เสา วางเฉียงในลักษณะรูปตัว V ที่ปลายของเสาแต่ละฝั่งจะติดตั้งโรเตอร์ (Rotor) หรือส่วนประกอบของกังหันลมที่หมุนได้ มีหน้าที่แปลงพลังงานจลน์เป็นพลังงานกล มีกังหันลมทั้งหมด 2 ตัว ใบพัดที่จะติดตั้งนี้คือรุ่น รุ่น MySE8.3-180 เป็นกังหันลมนอกชายฝั่งแบบกึ่งขับตรง (semi-direct-drive offshore wind turbine) คือทั้งขับเคลื่อนด้วยเกียร์ และมีโรเตอร์เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยตรง




โรเตอร์กังหันลมแต่ละตัว สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ 8.3 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัท แต่เมื่อรวมกัน 2 ตัวแล้ว แพลตฟอร์มนี้จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 16.6 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับกังหันลมที่เปิดใช้งานแล้วในปัจจุบัน ซึ่งก็คือกังหันลม หมิงหยาง สมาร์ต เอเนอร์จี มาย เอส อี 16-260 (MingYang Smart Energy MySE 16-260) จากบริษัทหมิงหยาง (MingYang) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดอยู่ที่ 260 เมตร และสามารถผลิตกำลังไฟได้ 16 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเมืองฝูเจี้ยน ประเทศจีน เปิดใช้งานในเดือนกรกฎาคมปี 2023


ทั้งนี้นวัตกรรมนี้ถือว่าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องขนาดหอคอยของกังหันลม เนื่องจากหากต้องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ก็ต้องสร้างกังหันลมขนาดใหญ่มากตามไปด้วย ซึ่งหากพิจารณาแค่เส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดของ MingYang Smart Energy MySE 16-260 แล้ว ก็มีความสูงใกล้เคียงกับตึกที่สูงอันดับ 6 ของไทยอย่าง เดอะริเวอร์ เซาท์ ทาวเวอร์ ที่สูง 265.6 เมตร ดังนั้นหากมีเทคโนโลยีกังหันลมที่จะขยายขอบเขตประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่านี้ ก็ต้องสร้างกังหันลมและหอคอยที่ใหญ่กว่านี้อีก ซึ่งแน่นอนว่าตามมาด้วยต้นทุนที่สูงมหาศาล ดังนั้นการออกแบบแพลตฟอร์มกังหันลมแบบโรเตอร์ 2 ตัว จึงถือเป็นขั้นตอนแก้ปัญหาที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องออกแบบหอคอยกังหันลมให้มีขนาดมหึมาเกินไป


ทั้งนี้ สำนักข่าวรีชาร์จ (Recharge) ได้รายงานว่า โมเดลขนาดย่อส่วน 1:10 ของแท่นกังหันลมลอยน้ำแบบ 2 ใบพัดขนาดจริง ได้รับการทดสอบในทะเลบอลติก ประเทศเยอรมนี เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งระหว่างการทดสอบ กังหันลมต้องเผชิญกับทั้งความเร็วลม 72 เมตรต่อวินาที และความสูงคลื่นเกือบ 30 เมตร ซึ่งแท่นได้รับการออกแบบมาให้เผชิญสภาวะพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


บริษัทได้แสดงภาพความก้าวหน้าของ OceanX โดยเป็นรูปการประกอบแท่นลอยน้ำที่ท่าเรือหวงฉวน (Huangchuan) ในเมืองกวางโจว มณฆลกวางตุ้ง ประเทศจีน พร้อกล่าวว่า แท่นดังกล่าวจะถูกลากออกสู่ทะเลเร็ว ๆ นี้ และจะติดตั้งนอกชายฝั่งชิงโจว เมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง แต่ทั้งนี้มันอาจจะต้องใช้เวลา 2 - 3 ปี ก่อนที่แพลตฟอร์มจะถูกนำไปใช้งานจริง 


ที่มาข้อมูล MingYangSmartEnergy's LinkedIn, InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ MYSEWorldfutureenergysummit, MingYangSmartEnergy's LinkedIn

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง