“เวนิสวาณิช” บทประพันธ์เช็คสเปียร์ กับความวุ่นวายเรื่อง “เงิน ๆ ทอง ๆ”
TNN ช่อง16
26 เมษายน 2567 ( 20:32 )
69
นับเป็นประเด็นร้อนอย่างมาก สำหรับ “เวนิส” นครแห่งสายน้ำ สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในอิตาลี เริ่ม “เก็บค่าธรรมเนียมเข้าเยี่ยมชม” ในราคา 5 ยูโร [ประมาณ 198 บาท] ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวเมือง ถึงขนาดเดินขบวนประท้วงกันเลยทีเดียว
เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่เข้าใครออกใคร ดังที่ เทศมนตรีเมืองเวนิส ได้ให้เหตุผลในการเก็บค่าเข้าชมนี้ว่า “เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอยู่อาศัยเสียใหม่”
อย่างไรเสีย เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในเวนิส เพราะหากพิจารณา “ประวัติศาสตร์วรรณกรรม” จะพบว่า เวนิสเป็นฉากหลังของปมปัญหาที่คล้ายกันในบทประพันธ์ “The merchant of Venice” ของนักประพันธ์ชื่อก้องโลกนาม “วิลเลียม เช็คสเปียร์” หรือที่ถอดความเป็นเวอร์ชั่นไทย ได้ว่า “เวนิสวาณิช”
ทั้งยังเรียกได้ว่ามีความเข้มข้นไม่แพ้กับที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน แม้เหตุการณ์จะเป็น “เรื่องแต่ง” ก็ตาม
อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
เนื้อเรื่องโดยย่อของเวนิสวาณิช ต้องเริ่มจาก บาซซานีโอ (Bassanio) ชาวเมืองเวนีส ได้ขอยืมเงินจาก อันโตนีโอ (Antonio) ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวเวนิสเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นค่าเดินทางไปดูตัวเพื่อเลือกภรรยาที่เมืองเบลมองต์ (Belmont) ซึ่งเป็นเมืองสมมุติในชนบทของอิตาลี
อันโตนีโอตอบรับด้วยเห็นแก่มิตร แต่เจ้าตัวไม่มีเงิน จึงได้ไปขอยืมจาก ไชล็อก (Shylock) พ่อค้าหน้าเลือดชาวยิว อีกทอดหนึ่ง พร้อมทั้งเซ็นสัญญาว่า “หากตนไม่มีเงินใช้ ขอชดใช้ด้วยการเฉือนเนื้อตนน้ำหนัก 1 ปอนด์”
บาซซานีโอ ได้ภรรยาเป็นสาวชาวเบลมองต์ตามที่หวัง และกำลังเดินทางกลับเวนิส กระนั้น ทางฝั่งอันโตนีโอได้รับข่าวลือว่า เรือของบาซวานีโออับปางลง ทำให้เขาไม่มีปัญญาใช้หนี้ไชล็อก
ไชล็อกได้ทวงสัญญา โดยเขาจะไม่รับเงิน แต่จะรับการเฉือนเนื้อ 1 ปอนด์ของอันโตนีโอแทน ทั้งที่นางพอร์เชีย (Portia) ภรรยาของอันโตนีโอ ได้ช่วยเหลือเรื่องเงิน ไชล็อกก็ไม่ยอม
เรื่องนี้เป็น “Talk of the town” ในเมืองเวสอย่างมาก และนำไปสู่การตัดสินผ่านกระบวนการยุติธรรม
ที่จริง การบังคับให้ลูกหนี้เฉือนเนื้อมนุษย์แทนการใช้หนี้ เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ถึงขนาดต้องประหารชีวิต ในเมื่อไชล็อกไม่ยอมรับเงิน จึงเป็นช่องทางให้ฝ่ายบาซซานีโอสวนกลับได้
ไชล็อกกลัวอาญาแผ่นดิน จึงยินยอมที่จะให้การชดใช้เป็นเงิน แต่อันโตนีโอและพรรคพวกไม่ยอม จะให้ประหารเสียให้ได้ ในท้ายที่สุด เรื่องลงเอยที่ว่า ไชล็อกต้องบริจาคทรัพย์สินครึ่งหนึ่งเข้ารัฐ ส่วนครึ่งหนึ่งให้อันโตนีโอ แต่อันโตนีโอไม่ขอรับเป็นเงิน แต่จะให้ไชล็อกหันมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกแทน
ก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะคลี่คลาย เมื่อบาซซานีโอ เดินทางกลับเวสด้วยสวัสดิภาพ
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
จากที่กล่าวในข้างต้น จะเห็นได้ว่า เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สามารถที่จะลุกลามได้ใหญ่โต เสียจนกลายเป็นประเด็นระดับเมืองได้เลยทีเดียว
การถอดบทเรียนจากเวนิสวาณิช นอกเหนือจากเรื่อง “การเร้าอารมณ์” หรือ “การบรรยายความรัก” ยังมีเรื่องของ “กฎหมายทางเศรษฐกิจ” อีกด้วย
โดยเฉพาะ ในประเด็นของ “การชำระหนี้” เวสถือได้ว่ามีความก้าวล้ำอย่างมาก ว่าห้ามใช้ส่วนของร่างกายมนุษย์ หากฝ่าฝืนถึงโทษประหาร ซึ่งเป็นนัยยะสำคัญให้ต้องชำระหนี้ด้วย “สินทรัพย์หรือสื่อกลางที่มีค่า” เท่านั้น ซึ่งถือว่าก้าวหน้ารัฐอื่น ๆ ในแถบยุโรปอย่างมาก
เมื่อมาถึงตรงนี้ ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุด การที่ เวนิส เรียกเก็บค่าเข้าชมเช่นนี้ จะ “Work” กับการท่องเที่ยวจริง ๆ หรือไม่
แต่จากการทำความเข้าใจเวนิสวาณิช ก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่า เวนิสนั้น เป็นเมืองที่สามารถ “จัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ” ได้อย่างอยู่มือมาอย่างช้านาน
เพราะบางครั้ง วรรณกรรมก็เป็น “ภาพสะท้อนมาจากความเป็นจริง” ประการหนึ่ง
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ The Merchant of Venice: Texts and Contexts
https://www.blockdit.com/posts/5ec6698b9caeff2f770e49b6
https://www.euronews.com/travel/2024/04/25/venice-entry-fee-here-are-all-the-dates-when-youll-have-to-pay-to-visit-in-2024
https://www.theguardian.com/world/2024/apr/25/are-we-joking-venice-residents-protest-as-city-starts-charging-visitors-to-enter
https://m.facebook.com/story.php?id=146188998874662&story_fbid=836187763208112