"กางแผน" ปรับตัวของภาคธุรกิจ รับมือความเสี่ยงสูง

แม้ว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดี โดยไตรมาสแรกปี 2568 ขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ร้อยละ 2.9 (สภาพัฒน์จะประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2568 วันที่ 18 ส.ค.68) จากการส่งออกเติบโตสูง เพราะผู้นำเข้าเร่งนำเข้าสินค้าก่อนจะถึงเส้นตายภาษีตอบโต้ ( Reciprocal Tariff ) ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ขณะที่เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน จากแรงกดดันหลายปัจจัยทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดทางการค้า การท่องเที่ยงหดตัวลง และหนี้ครัวเรือนที่สูง เป็นต้น
ส่งผลให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลกมอง และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ล่าสุดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ไปในทิศทางเดียวกันคือจะเติบโตได้ต่ำกว่าร้อยละ 2 ขณะที่ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตมากกว่าร้อยละ 2
อย่างไรก็ดี ธปท. ยอมรับว่า จากนี้ไปอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพ และล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินว่าในกรณีเลวร้าย หากไทยเจรจาไม่สำเร็จโดนภาษีสหรัฐฯ ร้อยละ 36 เท่าเดิม เศรษฐกิจไทยอาจโตเพียงร้อยละ 1.1 ในปีนี้ และร้อยละ 0.4 ในปีหน้า
แม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการกลับสะท้อนมุมมอง "การทำธุรกิจที่ยากลำบากขึ้น" จากหลากหลายสาเหตุ อาทิ อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จึง "ซ้ำเติม" ให้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ของธุรกิจมีอาการที่ชัดเจนและรุนแรงขึ้น
โดยในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ธปท. ได้วิเคราะห์และสรุปอุปสรรค “เชิงโครงสร้างของธุรกิจ” ที่สำคัญใน 3 ด้าน
1. Oversupply หรือจำนวนผู้ประกอบการเข้ามาเล่นในตลาดมากเกินไป ตัวอย่างในธุรกิจโรงแรม ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าผ่าน online platform อย่าง Airbnb ที่มีจำนวนห้องพักเกือบ 2 แสนห้อง เทียบกับจำนวนห้องพักโรงแรมทั้งหมดอยู่ที่ 1.3 ล้านในปี 2566 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนห้องพักทั้งหมด ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
โดยเฉพาะจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมต่ำกว่าระดับ 3 ดาว ทำให้ธุรกิจโรงแรมประสบภาวะ oversupply รุนแรงมากในช่วงหลัง เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร ผู้เล่นรายใหม่เพิ่มเป็นเท่าตัวจากช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เปิดง่าย มี barrier to entry ต่ำ ประกอบกับการเข้ามาของ food delivery platform ที่เปลี่ยนแปลง
ส่งผลให้ “ภูมิทัศน์” ในการแข่งขันของวงการอาหารเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ขณะที่กำลังซื้อเติบโตไม่ทันอุปทาน ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน (หมายถึง จำนวนนักท่องเที่ยวไทยรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาต) ที่เติบโตเพียงร้อยละ 12 จากช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารจึงประสบกับภาวะ oversupply โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว
2. Demand preferences หรือรสนิยมและความชอบของผู้บริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ในธุรกิจค้าปลีก online platform เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดการค้าปลีกแบบ offline แบบก้าวกระโดด
สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่า e-commerce ต่อมูลค่าตลาดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 ในปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 254 ในปี 2567 ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกรุนแรงขึ้นมาก ธุรกิจรายใหญ่ในส่วนกลางจึงต้องขยายสาขาไปแข่งขันในภูมิภาคกับผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยในท้องถิ่นมากขึ้น
3. Price competition หรือการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจยานยนต์และเครื่องนุ่มห่ม เผชิญการแย่งส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจากสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า
ตัวอย่างเช่น ราคาเครื่องนุ่งห่มจีนที่ต่ำกว่าสินค้าไทยถึงร้อยละ 20 และสัดส่วนการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากจีนต่อยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 44 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568เทียบกับร้อยละ 36 ในช่วงก่อนโควิด-19
จากปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว ธปท.ได้พบปะพูดคุยกับภาคธุรกิจต่างๆ พบว่า ธุรกิจหลายรายให้ความสำคัญกับการเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถ และเตรียมแผนธุรกิจเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยแนวทางในการปรับตัวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ขนาดของธุรกิจ และศักยภาพของธุรกิจ ทั้งนี้ มียกตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ดังนี้
1) กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร โดย "ธุรกิจโรงแรม" มีการปรับเพิ่มสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรปและอินเดีย เพื่อทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย
(2) เน้นให้บริการลูกค้าประเภทอื่น ๆ เช่น ลูกค้ากลุ่มประชุมและสัมมนา (Meetings, Incentives, Conventions, Exhibitions: MICE)
(3) ยกระดับเป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง (high-value tourism) ในระยะยาว เช่น wellness tourism เพื่อการรักษาโรค อาทิ การใช้ stem cell และกลุ่มความสวยความงามเพื่อชะลอวัย ซึ่งไทยมีศักยภาพและมาตรฐานการให้บริการที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึงมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว
และ (4) ปรับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green operation) เบื้องต้นที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก เช่น ติดตั้งแผ่นทำความเย็นและโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนของธุรกิจและรองรับความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่ถึงขั้นก่อสร้าง green building ซึ่งต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างสูงกว่าการก่อสร้างตึกปกติถึงร้อยละ 10-15
ขณะที่ "ธุรกิจร้านอาหาร" ปรับตัวโดย (1) กระจายรายได้ไปลูกค้ากลุ่มใหม่เพื่อทดแทนรายได้ลูกค้าเดิมที่หดตัว เช่น เพิ่มการขายสินค้าพรีเมียม (2) ทำการตลาดที่เน้นความคุ้มค่า (value) เช่น เปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ในราคาที่ถูกลง ปรับเมนูอาหารให้มีความแปลกใหม่และคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชันถี่ขึ้น และ (3) ลดขนาดการเช่าพื้นที่เพื่อลดต้นทุน
2) กลุ่มการค้าปลีก "ธุรกิจรายใหญ่" เน้นปรับตัวโดย (1) หาสินค้าใหม่ ๆ ที่หลากหลาย และมีคุณภาพสูง เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้แข่งขันได้กับสินค้าต่างชาติที่อาจมีคุณภาพไม่สูงเท่าไทยและเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ผ่านหลากหลายช่องทางการขายทั้งแบบ online และ offline
(2) สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้ลูกค้า เช่น การจัด event และใช้งานศิลปะตกแต่งภายในห้างสรรพสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้า (3) นำเสนอบริการเสริม เช่น ผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับการเลือกซื้อสินค้า และ (4) ขยายสาขาไปตามหัวเมืองหลัก รวมถึงเมืองรอง
ขณะที่ "ธุรกิจรายย่อยในภูมิภาค" พยายามปรับตัวเพื่อสร้างความแตกต่างจากรายใหญ่ โดยเน้นเพิ่มสินค้าเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างจากคู่แข่งส่วนกลาง อาทิ อาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่รวมทั้งขยายการขายผ่านช่องทาง online
3) กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เผชิญอุปสรรคเชิงโครงสร้างทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะกลุ่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่วนใหญ่เป็น SME จึงปรับตัวได้ยากกว่ารายใหญ่
โดยปัจจุบันธุรกิจบางส่วนพยายามปรับรูปแบบการผลิตจากเดิมที่รับจ้างผลิตชิ้นส่วน OEM (Original Equipment Manufacturer) ให้กับผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ ไปเป็นการผลิตชิ้นส่วน REM (Replacement Equipment Manufacturing) สำหรับตลาดซ่อมบำรุง ซึ่งต้องเริ่มทำการตลาดและหาลูกค้าเพื่อส่งออกเอง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาที่มีความต้องการต่อเนื่องและขยายตัวดี
รวมทั้งเปลี่ยนไปผลิตสินค้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนทางการแพทย์ เครื่องจักรทางการเกษตร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมราง เพื่อทดแทนยอดขายรถสันดาปในประเทศที่หดตัว
4) กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs กว่า 2 แสนราย ธุรกิจบางส่วนสามารถยกระดับเป็นผู้ผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่เน้นจับลูกค้าตลาดกลางถึงบน หรือผลิตสินค้า small lotsที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เสื้อกีฬา (เสื้อโยคะ เสื้อฮ็อคกี้) เสื้อผ้าแบรนด์ดีไซเนอร์หรือแบรนด์ของinfluencer เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับผู้ผลิตแบบปริมาณมาก (mass) ที่ราคาไม่สูงนัก เช่นเวียดนาม แอฟริกา และจีน
ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายจากหลายด้าน การปรับตัวของธุรกิจจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมากในการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และสร้างภูมิต้านทานความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี การปรับตัวของภาคธุรกิจโดยลำพังอาจยังไม่เพียงพอ ในภาพรวมธุรกิจยังต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนกระบวนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปด้วย
โดย "มาตรการที่ธุรกิจหลายกลุ่ม" ต้องการ อาทิ การบรรเทาผลกระทบจากการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้าที่ไม่มีมาตรฐานและผิดกฎหมาย โดยการบังคับใช้กฎหมายและตรวจสอบที่เข้มงวดสำหรับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า การตรวจสินค้าผ่านแดส และการป้องกันการสวบสิทธิ์สินค้า เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
การพัฒนาองค์ความรู้ของธุรกิจและแรงงานเพื่อเพิ่ม Know-how ในการปรับตัวสู่ธุรกิจอื่น โดยเพิ่มบทบาทของหน่วยงานรัฐเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ และออกแบบหลักสูตรร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัย
การสนับสนุนด้านการขยายตลาดใหม่ๆ โดยเร่งเจรจา FTA โดยเฉาะกับสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง และช่วยทำ business matching กับคู่ค้าปลายทาง และให้คำปรึกษา
และสน้บสนุนสินเชื่อสำหรับพัฒนามาตรฐานสินค้าและลดต้นทุนธุรกิจ อาทิ การลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และพัฒนาระบบการจัดการ หรือการทดสอลมาตรฐานการผลิตภัณฑ์
สำหรับ "มาตรการเฉพาะกลุ่มธุรกิจ" อาทิ กลุ่มยานยนต์ ต้องการให้ทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI กำหนดการใช้วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับผู้ผลิตและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์ของธุรกิจหลงได้รับสิทธิประโยชน์
สำหรับกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ต้องการมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจัดการระบบความปลอดภัย เช่น ติดตั้งกล้อง CCTV ดูแลบริการขนส่งให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่า สิ่งที่สำคัญคือ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมุ่งออกแบบนโยบายที่ตรงจุดและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ทั้งในด้านการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การพัฒนาองค์ความรู้ของธุรกิจและทักษะแรงงาน รวมถึงโอกาสทางการตลาด แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยบรรเทาผลกระทบระยะสั้นได้บ้างแต่ไม่ใช่แนวทางที่ตรงจุดในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นต้นตอของความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงได้อย่างยั่งยืน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
