ยิ้มหวาน ! “หุ่นยนต์ยิ้ม” หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ เลียนแบบรอยยิ้มของคน
วิศวกรจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ที่สามารถเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าของมนุษย์ได้ โดยให้ชื่อว่า อีโม (Emo)
หุ่นยนต์อีโม (Emo) เป็นหุ่นยนต์ที่ตอนนี้จะมีเฉพาะใบหน้า และมีระบบเอไอที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้สามารถคาดการณ์การแสดงออกทางสีหน้าของมนุษย์ และสร้างการแสดงออกทางสีหน้าของหุ่นยนต์ที่สอดคล้องกันได้ หรือทำได้ก่อนที่มนุษย์จะแสดงสีหน้านั้น ๆ เช่น การยิ้ม โดยผู้พัฒนาระบุว่า มันสามารถทำนายได้ว่ามนุษย์จะยิ้มให้มันได้ล่วงหน้าถึง 0.84 วินาที
ซึ่งเบื้องหลังความสามารถนี้ มาจากการติดตั้งตัวกระตุ้น 26 ตัวภายในศีรษะของหุ่นยนต์ สำหรับการแสดงออกทางสีหน้าที่หลากหลาย เพื่อให้ลักษณะที่คล้ายกับใบหน้าของมนุษย์ และบริเวณใบหน้าหุ้มด้วยซิลิโคน โดยที่ตาจะมีกล้องความละเอียดสูงใช้รับภาพ โต้ตอบ และสบตาคู่สนทนา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารแบบอวัจนภาษา หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้การพูด
ส่วนกระบวนการฝึกฝนของหุ่นยนต์ จะใช้กระบวนการที่เรียกว่า "การสร้างแบบจำลองตัวเอง" (self-modeling) โดยที่อีโมจะทำการเคลื่อนไหวแบบสุ่มที่หน้ากล้อง เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกทางสีหน้า และคำสั่งมอเตอร์ ร่วมกับการดูวิดีโอการแสดงสีหน้าของมนุษย์ เพื่อฝึกการคาดเดาการแสดงออกทางสีหน้าของผู้คน โดยมันจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ บนใบหน้าของมนุษย์ ขณะที่พวกเขากำลังจะยิ้ม หรือ แสดงอารมณ์
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ วงการหุ่นยนต์มีตัวช่วยอย่างปัญญาประดิษฐ์ เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) ที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการสื่อสารด้วยวาจาของหุ่นยนต์ต่าง ๆ ไปอย่างก้าวกระโดด แต่ทว่าความสามารถในการแสดงอารมรณ์ผ่านทางใบหน้า ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มาก
ผู้พัฒนากล่าวว่าการศึกษานี้ จึงถือเป็นความปลี่ยนแปลงด้านปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ เพราะช่วยให้หุ่นยนต์ สามารถคำนึงถึงการแสดงออกของมนุษย์ในระหว่างการโต้ตอบได้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของการปฏิสัมพันธ์ และเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกันได้มากขึ้น
โดยทีมวิจัยได้เผยแพร่ข้อมูลการพัฒนาผ่านทางวารสาร ไซแอนต์ โรโบติกส์ (Science Robotics) และวางแผนที่พัฒนาขั้นต่อไป เป็นการรวมความสามารถในการสื่อสารด้วยวาจา เข้ากับ หุ่นยนต์ อีโม (Emo) เพื่อให้มันร่วมการสนทนา ที่มีความซับซ้อนได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, engineering