รู้จัก “ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง” ตำรับยา สมุนไพร รักษาโควิด-19 ที่จีนรับรอง
การแพทย์แผนจีน เป็นอีกลักษณะการรักษาที่อยู่มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ และเคยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนต่อสู้กับโรคระบาดในประเทศจีนจนมีหลักฐานการบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคระบาดมาหลายครั้ง และในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก สาธารณสุขของจีน ได้รับรองตำรับยาสมุนไพร “ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง" เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19
วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จักกับตำรับยาต้ม ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ที่จีนรับรองว่าเหมาะสมในการรักษาโควิด-19 มีประสิทธิภาพผลทางการรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงจนถึงอาการหนักขั้นวิกฤติ โดยใช้สมุนไพรหลายชนิดประกอบกันเป็นยาขับพิษออกจากร่างกาย
รู้จัก “ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง”
ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง เป็นตำรับยาที่คณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (National Health Commission of the People's Republic of China) ประกาศไว้ในแนวทางการตรวจรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 6 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อแล้วโดยปรับตามความเหมาะสมในระยะการรักษาและสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคลและสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนจีนเท่านั้น
ในตำรับยาประกอบด้วยสมุนไพรอะไรบ้าง
เป็นการนำตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับมารวมกัน ได้เป็นตำรับยาใหม่ และปรับเปลี่ยนสูตรโดยเอาตัวยาเดิมบางชนิดออกและเพิ่มตัวยาใหม่บางชนิดในตำรับยาจีนพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องต่อการรักษาอาการโรคโควิด–19 ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังประกอบด้วยตัวยาทั้งสิ้น 21 ชนิด ดังนี้
1. หมาหวง หรือ Mahuang (Herba Ephedrae) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรรสเผ็ดขม คุณสมบัติ อุ่นเล็กน้อย ขับเหงื่อ ขับพิษไข้ กระจายซี่ปอด บรรเทาหอบ
2. ชะเอมเทศ หรือ Zhigancao (Radix Glycyrrhizae) ปริมาณ 6 กรัม เป็นสมุนไพรรสหวาน สุขุม ในกลุ่มบำรุงซี่ บำรุงส่วนกลางของร่างกาย ระบายความร้อน ขับพิษ ระงับไอ ขับเสมหะ ปรับประสานตัวยาให้เข้ากัน
3. ซิ่งเหริ่น หรือ Xingren (Semen Armeniacae Amarum) ปริมาณ 9 กรัม ซิ่งเหริ่น คือเมล็ดสุกแห้งที่ลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออกแล้วของพืช มีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ ระงับการหอบ
4. เซิงสือเกา หรือ Shengshigao (Gypsum Fibrosum) ปริมาณ 15 กรัม สือเกา หรือเกลือจืด รสเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติ เย็นมาก มีสรรพคุณ ระบายความร้อน รักษาอาการไข้ร้อนสูง ลดอาการร้อนกระวนกระวาย และกระหายน้ำ
5. กุ้ยจือ หรือ Guizhi (Ramulus Cinnamoni) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรกุ้นจือ หรือกิ่งอบเชยจีน รสชาติเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติอุ่น ขับเหงื่อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ความอบอุ่น และเสริมหยาง ช่วยให้ซี่มีการไหลเวียนได้ดีขึ้น
6. เจ๋อเซี่ย หรือ Zexie (Rhizoma Alismatis) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรเจ๋อเซี่ย รสชาติ จืด อมหวาน คุณสมบัติเย็น ขับปัสสาวะ ขับความชื้น ระบายความร้อน
7. จูหลิง หรือ Zhuling (Polyporus Umbellatus) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรจูหลิง รสชาติจืด อมหวาน คุณสมบัติ สุขุม สรรพคุณ ระบายความชื้น ลดอาการถ่ายเหลว ช่วยให้ปัสสาวะคล่อง บรรเทาอาการปัสสาวะขุ่น ลดบวม
8. ไป๋จู๋ หรือ Baizhu (Rhizoma Atractylodis Macrocephalae) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรไป๋จู๋ รสชาติขมอมหวาน คุณสมบัติ อุ่น บำรุงซี่ เสริมม้ามให้แข็งแรง ขจัดความชื้น ระบายน้ำ ระงับเหงื่อ กล่อมครรภ์
9. ฝูหลิง หรือ Fuling (Poria) ปริมาณ 15 กรัม สมุนไพรฝูหลิง หรือโป่งรากสน รสชาติ จืดอมหวาน มีคุณสมบัติสุขุม สรรพคุณขับน้ำ สลายความชื้น บำรุงม้าม สงบจิตใจ
10. ไฉหู หรือ Chaihu (Radix Bupleuri) ปริมาณ 16 กรัม สมุนไพรไฉหู รสชาติ ขมเผ็ด มีคุณสมบัติ เย็นเล็กน้อย ขับกระจายลดไข้ ผ่อนคลายระบบตับ และคลายเครียด ช่วยให้หยางซี่ขึ้นสู่ส่วนบน
11. หวงฉิน หรือ Huangqin (Radix Scutellariae) ปริมาณ 6 กรัม สมุนไพรหวงฉิน รสชาติ ขม มีคุณสมบัติ เย็น สรรพคุณ ระบายความร้อน แก้ความชื้น ขับพิษร้อน ช่วยให้เลือดเย็นลง และห้ามเลือด แก้ตัวร้อน กล่อมครรภ์
12. ปั้นเซี่ย หรือ Jiangbanxia (Rhizome Pinelliae Preparata) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรปั้นเซี่ย รสชาติเผ็ดร้อน คุณสมบัติอุ่น มีพิษ (จำเป็นต้องฆ่าพิษก่อนนำมาใช้) สรรพคุณ ขจัดความชื้น ละลายเสมหะ ลดการไหลย้อนกลับของซี่ ระงับอาเจียน ละลายเสมหะที่จับเป็นก้อนเถาดาน
13. เซิงเจียง หรือ Shengjiang (Rhizama Zingiberis Recens) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรเซิงเจียง หรือรากขิงแก่สด มีรสชาติ เผ็ด คุณสมบัติอุ่น สรรพคุณ ขับเหงื่อ ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหารบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้ปอดอบอุ่น ระงับไอ
14. จือห้วน หรือ Ziyuan (Radix Asteris) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรจือห้วน มีรสชาติ เผ็ดอมหวานและขม คุณสมบัติอุ่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ดึงซี่ลงต่ำ ละลายเสมหะที่เป็นสาเหตุของการไอทั้งไอเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งแบเย็นร้อน พร่อง และแกร่ง บรรเทาอาการคันคอ เสมหะมีเลือดปน
15. ข่วนตงฮวา หรือ Kuandonghua (Flos Farfarae) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรข่วนตงฮวา รสชาติเผ็ดขมเล็กน้อย มีคุณสมบัติเป็นยาอุ่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ระบบปอด ระงับอาการไอ ละลายเสมหะ
16. เซ่อกาน หรือ Shegan (Rhizoma Belamcandae) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรเซ่อกาน หรือว่านหางช้าง รสขมเย็น สรรพคุณ ระบายความร้อน ถอนพิษ ละลายเสมหะ ช่วยให้ลำคอโล่ง
17. ซี่ซิน หรือ Xixin (Herba Asari) ปริมาณ 6 gram สมุนไพรซี่ซิน รสชาติเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติอุ่น สรรพคุณสลายความเย็น เปิดทวาร แก้ปวด ให้ความอบอุ่นแก่ปอด ขับของเหลว
18. ซานเย่าหรือ Shanyao (Rhizoma Dioscoreae) ปริมาณ 12 กรัม สมุนไพรซานเย่า รสชาติหวาน คุณสมบัติสุขุม มีสรรพคุณบำรุงซี่ เสริมอิน บำรุงปอดและม้าม ไต เหนี่ยวรั้งสารจำเป็นบรรเทาอาการตกขาว
19. จื่อสือ หรือ Zhishi (Fructus Aurantii Immaturus) ปริมาณ 6 กรัม สมุนไพรจื่อสือ รสชาติ ขมเผ็ด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณ ขับซี่ลงล่าง สลายก้อน สลายของเสียตกค้าง ละลายเสมหะ
20. เฉินผี หรือ Chenpi (Pericarpium Citri Reticulatae) ปริมาณ 6 กรัม สมุนไพรเฉินผี หรือผิวส้มจีน รสชาติ เผ็ดขม มีคุณสมบัติเป็นยาอุ่น สรรพคุณปรับและกายซี่ ปรับส่วนกลางของร่างกายให้เป็นปกติ ขับความชื้น ละลายเสมหะ
21. ฮั้วเซียง Huoxiang (Herba Pogostemonis) ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรฮั้วเซียง หรือพิมเสนต้น รสชาติ เผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น สรรพคุณ สลายความชื้น รงับอาเจียน และระบายความร้อน
ดูรายละเอียด ภาพประกอบสมุนไพร คลิก
สรรพคุณ “ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง”
1.ช่วยฟื้นฟูระบบปอดให้แข็งแรง
2.แก้ไอเรื้อรัง จาม หอบหืด
3.แก้ไข้ แก้หวัด แก้ภูมิแพ้
4.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค
5.ปรับธาตุทั้ง 5
6.ปรับสมดุลของระบบ ยิน-หยาง
วิธีรับประทานยา
รับประทานในรูปแบบยาต้ม วันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น) หลังอาหารประมาณ 40 นาที เป็นเวลา 3 วัน นับเป็น 1 คอร์ส การรักษา
หลังจากรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยควรดื่มน้ำข้าวต้มอุ่น ๆ ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการคอแห้ง สารน้ำพร่อง ดังนั้น น้ำข้าวต้มถือเป็นตัวยาที่ 22 ของตำรับนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณในการบำรุงกระเพาะอาหาร สร้างสารน้ำ และระงับอาการกระหายน้ำ อีกทั้งการรับประทานน้ำข้าวต้มร้อน ๆ ยังสามารถช่วยในการขับเหงื่อ ระบายความร้อนอีกด้วย
ใครที่ต้องระวังในการใช้
ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องอย่างมาก เช่น ภาวะม้ามพร่องอ่อนแอ การขับเคลื่อนชี่ในไตไม่เพียงพอ ควรใช้คู่กับยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงม้าม เนื่องจากสรรพคุณของตำรับยานี้เน้นไปทางระบายน้ำออก จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอินพร่อง
นอกจากนี้ในตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังมีตัวยา 2 ชนิดที่มีพิษ คือ ซี่ซิน และหมาหวง จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย
สำนักข่าวซินหัว ออนไลน์ เคยรายงานไว้ว่า จากการศึกษาโดยคณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลฟู่ไว่ สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน และโรงพยาบาลวิทยาลัยการแพทย์ปักกิ่ง ยูเนียน พบว่า ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 30 รับประทานยาต้มชิงเฟ่ย ไผตู๋ ในการรักษาโควิด-19 รายงานระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้รับประทานยาดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ขณะอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายอื่นอยู่ที่ร้อยละ 4.8
การศึกษาสรุปว่าการใช้ยาต้มชิงเฟ่ย ไผตู๋ เชื่อมโยงกับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่เพิ่มพูนความเสี่ยงการเกิดภาวะตับหรือไตวายเฉียบพลันแต่อย่างใด
หนังสือพิมพ์ฯ อ้างหลี่จิ้ง หัวหน้าคณะนักวิจัย จึงระบุว่าชิงเฟ่ย ไผตู๋ เป็นยาชนิดเดียวที่แนวปฏิบัติการวินิจฉัยและการรักษาโรคโควิด-19 ระดับชาติแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยทุกราย ตั้งแต่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงจนถึงขั้นวิกฤต
ข้อมูลข่าว แพทย์แผนจีน รพ.หัวเฉียว , มหาวิทยาลัยรังสิต , ชีวจิต , สำนักข่าวซินหัว
ภาพจาก แพทย์แผนจีน รพ.หัวเฉียว
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้จัก “ยาเหลียนฮัวชิงเวิน” สมุนไพรจีน ต้านไวรัสที่ต้องมีติดบ้านช่วงโควิด
- เปิดสรรพคุณ พลูคาว (ผักคาวตอง) ผักพื้นบ้านต้านไวรัส ยับยั้งหวัด เสริมภูมิคุ้มกันก็ได้
- เปิดสรรพคุณ "โกฐจุฬาลัมพา" สมุนไพรไทย ยับยั้งโควิด
- เปิดตำรับ "จันทน์ลีลา" ยาไทยโบราณ บรรเทาอาการไข้จากโควิด
- 12 สมุนไพรพื้นบ้าน ยารักษาโควิด-19 แบบไทยแท้
- #ของมันต้องมี เปิดสรรพคุณ “กระชาย” สมุนไพรต้านโควิด-19
- รวมยาสมุนไพรไทย ช่วยอาการทางเดินหายใจ สร้างภูมิต้านทาน
- การใช้สมุนไพรป้องกันโควิด ก่อนติด ติดโควิดแล้ว และหายป่วยโควิด ต้องใช้ตัวไหน
- เช็กที่นี่! แจกฟ้าทะลายโจรฟรีที่ไหนบ้าง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย